bih.button.backtotop.text

พิชิตโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง ด้วย TIF เทคนิคการซ่อมแซมหูรูดกระเพาะอาหารแบบไร้แผล

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารมากและบ่อยกว่าปกติ โดยทั่วไป แพทย์จะรักษาโดยการให้รับประทานยาลดกรดประมาณ 8 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้นและแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมแล้วว่าไม่ได้มีโรคของหลอดอาหารอื่นๆร่วมด้วย  แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยวิธีการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันนอกจากวิธีการผ่าตัดแล้ว ยังมีทางเลือกในการซ่อมแซมหูรูดกระเพาะอาหารจากด้านในโดยไม่ต้องผ่าตัดที่เรียกว่า Transoral Incisionless Fundoplication หรือ TIF

GERD.png


การรักษาโดย TIF ทำได้อย่างไร
แพทย์จะให้ยาสลบแก่ผู้ป่วยก่อนทำหัตถการ หลังจากนั้นแพทย์จะส่องกล้องที่สามารถโค้งงอได้ผ่านทางปากเข้าไปยังหลอดอาหาร ลงสู่กระเพาะอาหาร เมื่อกล้องอยู่ที่กระเพาะอาหารแล้ว แพทย์จะทำให้กล้องมีลักษณะโค้งงอ 180 องศาเพื่อให้สามารถเห็นส่วนปลายสุดของหลอดอาหารที่ต่อกับกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นแพทย์จะใช้ขอเกี่ยวที่ติดอยู่กับตัวอุปกรณ์ดึงเนื้อเยื่อของหลอดอาหารเข้ามาอยู่ในขาพับของตัวอุปกรณ์ แล้วจึงใช้ส่วนบนของกระเพาะอาหารม้วนพันหลอดอาหาร 270 องศาเพื่อสร้างหูรูดใหม่ให้แน่นกระชับขึ้น ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไม่สามารถไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารได้

ข้อดีของ TIF

  • ไม่มีแผลเป็นจากการผ่าตัดหรือการเจาะรูที่หน้าท้อง
  • นอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืน
  • ฟื้นตัวได้ไวกว่าการผ่าตัด
  • มีความปลอดภัยสูง โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัด
  • สามารถทำหัตถการซ้ำได้ หากผู้ป่วยกลับมาเป็นโรคกรดไหลย้อน


TIF เหมาะกับใครบ้าง

  • ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนและรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล
  • ผู้ที่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดกรด เช่น กระดูกเปราะบางหรือหักง่าย การติดเชื้อในทางเดินอาหารบางประเภท ค่าไตหรือเกลือแร่ผิดปกติ
  • ผู้ที่ไม่อยากรับประทานยาลดกรดเป็นระยะเวลานานเนื่องจากกลัวผลข้างเคียงของยาในระยะยาว
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดรักษาโรคกรดไหลย้อนแล้วกลับมาเป็นซ้ำ
  • ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนโดยไม่มีโรคหลอดอาหารอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคการขยับตัวผิดปกติของหลอดอาหาร


ข้อจำกัดของการทำ TIF
หากผู้ป่วยมีกระเพาะอาหารบางส่วนยื่นเข้าไปในช่องอกขนาดใหญ่เกิน 2 เซ็นติเมตร แพทย์จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วยเพื่อให้กระเพาะอาหารลงมาอยู่ในช่องท้องทั้งหมดก่อนที่จะใช้เครื่องมือ TIF พันหลอดอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมา

ผลข้างเคียงมีอย่างไรบ้าง
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • เจ็บคอ
  • เจ็บไหล่
  • มีโอกาสเจ็บหน้าอกได้เล็กน้อย
  • มีโอกาสเลือดออกได้เล็กน้อย

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี TIF ที่พร้อมให้คำปรึกษา วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน แม้ในกรณีที่ยากและซับซ้อน

ที่มา: รศ.คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ แพทย์ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 08 กรกฎาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs