bih.button.backtotop.text

เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนแบบสบายๆ ไม่ต้องผ่าตัด (TAVI)

เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนแบบสบายๆ ไม่ต้องผ่าตัด (TAVI)
เมื่อผู้ป่วยรู้ตัวว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบ อาจรู้สึกกังวลว่า จะต้องทำการผ่าตัดใหญ่แบบเปิดทรวงอก ทำให้เจ็บตัวเยอะ พักฟื้นนานหรือเปล่า ยิ่งมีอายุมากยิ่งกังวลมากว่าจะปลอดภัยหรือไม่ อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้แพทย์สามารถเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI: Transcatheter Aortic Valve Implantation)

สถาบันโรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ทำการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดมาตั้งแต่ปี 2559 โดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจที่ผ่านการอบรมฝึกการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมา สถาบันโรคหัวใจได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยมารับการรักษากับเรา ทำให้บำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีจำนวนผู้ป่วยมาทำการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนมากที่สุด


โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบคืออะไร
ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (aortic valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (aorta) มีหน้าที่ป้องกันการย้อนกลับของเลือดเข้ามายังหัวใจ

การตีบของลิ้นหัวใจมีอยู่ 3 ระดับ คือ ตีบน้อย ตีบปานกลางและตีบมาก หากลิ้นหัวใจยังอยู่ในระดับที่ตีบน้อยหรือตีบปานกลาง แพทย์อาจรักษาตามอาการโดยการใช้ยา แต่หากตีบมาก วิธีการรักษามีอยู่ทางเดียวคือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ


โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบเกิดขึ้นได้ในคนทุกวัย
  • ในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมตามวัย
  • ในคนอายุน้อย ที่พบได้บ่อยคือเกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจเอออร์ติกแบบสองกลีบ(bicuspid aortic valve) แทนที่จะมีสามกลีบตั้งแต่กำเนิด
  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นไข้รูมาติก
นอกจากนี้ยังเกิดจากโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การกินอาหารที่มีไขมันชนิดไม่ดีมาก ไม่ออกกำลังกายและการสูบบุหรี่


อาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรค
หากลิ้นหัวใจยังตีบน้อย ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อตีบมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนโรคหัวใจทั่วไป ดังนี้
  • เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะระหว่างออกกำลังกาย
  • แน่นหน้าอก
  • หน้ามืด เป็นลม
  • ใจสั่น เช่น หัวใจเต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอ
  • มีเสียงฟู่ของหัวใจซึ่งแพทย์สามารถได้ยินผ่านทางหูฟังแพทย์
 

TAVI คืออะไร
เป็นการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบทางด้านซ้ายหรือด้านขวา ในบางรายอาจต้องเจาะเข้าทางยอดหัวใจ เมื่อสายสวนเข้าไปถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติก แพทย์จะปล่อยลิ้นหัวใจเทียมที่ม้วนพับอยู่ให้กางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ทำงานชดเชยของอันเก่า
 

ข้อดีของ TAVI คืออะไร
  • ได้ผลลัพธ์ที่ดี ภาวะแทรกซ้อนโดยรวมน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดทรวงอก
  • มีความปลอดภัยสูง ใช้เวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง
  • มีเพียงแผลเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร
  • โอกาสติดเชื้อน้อย
  • เสียเลือดน้อย เจ็บน้อย
  • ฟื้นตัวเร็ว วันรุ่งขึ้นสามารถลุกเดินได้ หายเป็นปกติภายใน 1-3 เดือน

ผู้ป่วยที่มารับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนกับเรา ได้กล่าวเหมือนๆกันว่า TAVI เป็นวิธีการที่ให้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของแผลที่เล็ก ความรวดเร็วในการฟื้นตัวและความเอาใจใส่ของแพทย์

 
 



ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง
ความเสี่ยงในการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติดผ่านสายสวนมีความคล้ายคลึงกับการผ่าตัดแบบเปิด เช่น
  • ผู้ป่วยบางรายอาจต้องพึ่งเครื่องกระตุ้นหัวใจ (pace maker) หลังทำหัตถการ ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 5%
  • ในรายที่มีหินปูนเกาะ หินปูนอาจหลุดขึ้นไปที่สมองทำให้เป็นอัมพาต ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 3%
 
ใครบ้างที่เหมาะกับ TAVI
  • ผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัดแบบเปิดทรวงอก
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรคหรือเคยผ่าตัดเปิดทรวงอกมาก่อน


ดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อให้มีลิ้นหัวใจที่แข็งแรงไปนานๆ
ถึงแม้สาเหตุหลักของโรคนี้มาจากความเสื่อมตามวัย แต่เราสามารถควบคุมปัจจัยบางอย่างที่นำไปสู่โรคได้ ด้วยการดูแลสุขภาพ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี ร่วมกับการตรวจสุขภาพหัวใจ
  • รักษาระดับความดันโลหิต ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • รักษาสุขภาพช่องปากและฟัน โรคเหงือกอักเสบและฟันผุอาจมีความเชื่อมโยงกับโรคลิ้นหัวใจอักเสบ
  • รีบรักษาอาการต่อมทอลซิลหรือคออักเสบที่เกิดจากเชื้อแบทีเรียสเตรปกลุ่มเอที่ทำให้เป็นไข้รูมาติก



วางใจในการรักษากับเรา ด้วยอัตราความสำเร็จในการรักษาด้วย TAVI ทุกเคส
เราทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหสาขาวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์หัวใจด้านเอคโค (Echocardiogram) วิสัญญีแพทย์ด้านหัวใจ แพทย์กายภาพด้านหัวใจ เภสัชกรด้านหัวใจและพยาบาลที่มีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ทำให้เรามีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยที่สูงอย่างครบวงจร


Dr-Wattanapol.jpg

โดย นพ. วัธนพล พิพัฒนนันท์
 


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 21 มิถุนายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs