bih.button.backtotop.text

เนื้องอกกระดูกสันหลัง…ปวดหลังที่ไม่ใช่แค่ปวดหลัง

เนื้องอกกระดูกสันหลังคืออะไร

เนื้องอกกระดูกสันหลัง คือก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ที่อยู่ภายในกระดูกสันหลัง หรือ รอบๆกระดูกสันหลัง เซลล์ที่ผิดปกตินี้แบ่งตัวอย่างเหนือการควบคุมของร่างกาย เนื้องอกกระดูกสันหลังแบ่งเป็นชนิดเนื้อดีและเนื้อร้าย สามารถแบ่งชนิดตามต้นกำเนิดได้เป็นเนื้องอกปฐมภูมิ คือเนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากกระดูกสันหลัง หรือไขสันหลัง และเนื้องอกทุติยภูมิคือเนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากมะเร็งที่ตำแหน่งอื่น แล้วแพร่กระจายมาที่กระดูกสันหลัง

เนื้องอกกระดูกสันหลังเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับโรคกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ โดยปกติแล้วเนื้องอกกระดูกสันหลังจะโตอย่างช้าๆทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการหลายอย่างรวมกัน และปวดหลังคืออาการหนึ่งที่พบได้

 

อาการเนื้องอกกระดูกสันหลัง

ผู้ป่วยสามารถแสดงอาการได้หลายแบบ ขึ้นกับ ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก

  • ปวดกลางหลังทั่วๆ ไป / ปวดมากตอนกลางคืน

  • ​เดินผิดปกติ / สูญเสียการทรงตัว หรือ หกล้มบ่อยๆ

  • ชา / อ่อนแรง / รู้สึกเสียวที่แขนหรือขา หรือบริเวณลำตัว

  • เดินลำบากในที่มืด

  • ควบคุมการอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

  • กระดูกสันหลังคด

 

ใครมีแนวโน้มที่จะมีเนื้องอกกระดูกสันหลัง

  • เนื้องอกมีโอกาสเกิดได้ในคนทุกคน แต่อุบัติการณ์เกิดต่ำมาก

  • นักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเนื้องอกกระดูกสันหลัง อาจจะเกิดจากไวรัส ยีนที่บกพร่อง การสัมผัสสารเคมี หรือสารพิษบางชนิด และภาวะบกพร่องของภูมิคุ้มกัน
     

การตรวจเพื่อวินิจฉัย

  • แพทย์จะวินิจฉัยจาก ประวัติผู้ป่วยและอาการ การตรวจร่างกาย โดยประเมินกำลังของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวและการควบคุมการเคลื่อนไหว การทรงตัว การรับรู้ที่ผิวหนัง รีเฟล็กซ์

  • เอ็กซเรย์ เอ็กซเรย์จะมองเห็นโครงสร้างที่เป็นกระดูกชัด แต่ไม่สามารถเห็นโครงสร้างที่เป็นเนื้อเยื่ออื่น ดังนั้นจึงไม่เห็นเนื้องอกโดยตรง

  • เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI เป็นเครื่องมือสำคัญในการวินิจฉัย เนื้องอกกระดูกสันหลัง ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องทำการฉีดสีเพื่อให้แยกชนิด หรือขอบเขตของเนื้องอกได้ชัดเจนมากขึ้น

  • Positron emission tomography (PET SCAN) เป็นการตรวจการทำงานของเซลล์ทั้งร่างกาย ใช้สำหรับดูว่าเนื้องอกมีการกระจายไปที่ตำแหน่งใดบ้างในร่างกาย
     

เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์

  • สูญเสียการทรงตัวหรือหกล้มบ่อยๆ

  • สังเกตุว่าเดินลำบาก ก้าวขาลำบาก เนื่องจากเกร็งหรือปวด

  • มีภาวะกล้ามเนื้อขาเกร็ง เสียวขา ชาขาหรือลำตัว

  • ปวดหลัง โดยเฉพาะปวดมากเวลานอนหงาย หรือปวดมากตอนกลางคืน

  • ควบคุมการอุจจาระ หรือปัสสาวะไม่ได้
     

วิธีการรักษาเนื้องอกกระดูกสันหลัง

วิธีการรักษาโรคเนื้องอกกระดูกสันหลัง อาจจะแตกต่างกันขึ้นกับชนิดของเนื้องอก ความรุนแรง และปัจจัยอื่นๆ วิธีการรักษา ประกอบไปด้วย

  • ผ่าตัดนำเนื้องอกออกทั้งหมด หรือ ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกแค่บางส่วนเพื่อป้องกันการเสียหายของเส้นประสาทหากนำเนื้องอกออกทั้งหม

เนื้องอกชนิดเนื้อดี มีทั้งชนิดที่โตช้าหรือโตเร็ว แต่มักไม่แพร่กระจายไปยังตำแหน่งอื่นของร่างกาย และรักษาโดยการผ่าตัดได้ เนื้องอกชนิดเนื้อร้าย มีคุณสมบัติคือสามารถแพร่กระจายหรือลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง บางชนิดสามารถผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกออกได้ทั้งหมด ขณะที่เนื้องอกชนิดเนื้อร้ายบางชนิดจะมีขอบเขตของก้อนไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้ทั้งหมด

การผ่าตัดนำเนื้องอกออก ทำการผ่าตัดโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันกระดูกสันหลัง (Bumrungrad Spine Institute) โดยเป็นการทำงานร่วมกันของประสาทศัลยแพทย์และออร์โธปิดิกส์ ใช้กล้อง microscope และอาจใช้ intra-operative nerve monitoring เพื่อสังเกตการทำงานของเส้นประสาทในขณะผ่าตัดผ่านสัญญาณ ทำให้ลดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทขณะผ่าตัด

หากท่านมีอาการปวดหลังอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าท่านเป็นเนื้องอกกระดูกสันหลัง แนะนำให้ท่านมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากปวดหลังมีสาเหตุได้จากหลายอย่าง และโรคเนื้องอกกระดูกสันหลังกลับเป็นสาเหตุพบได้น้อย ปวดหลังทั่วๆ ไปอาจจะค่อยๆ ดีขึ้น ในขณะที่เนื้องอกกระดูกสันหลังมักปวดกลับมาเป็นซ้ำ ปวดตลอดเวลา หรืออาการปวดแย่ลงเรื่อยๆ 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ผศ.พญ. กัณฐิกา วศินพงศ์วณิช
แพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง สถาบันกระดูกสันหลัง (Bumrungrad Spine Institute) 



 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs