แผนกผู้ป่วยวิกฤต(ICU) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและจำเป็นในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตทุกชนิด อาทิ เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของสัญญาณชีพ เครื่องช่วยหายใจชนิดต่างๆ เครื่องล้างไตแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (extracorporeal membrane oxygenation: ECMO) เป็นต้น
เครื่องมือเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในแผนกผู้ป่วยวิกฤต(ICU)
1. เครื่องเอคโม่ หรือ ECMO: extracorporeal membrane oxygenation เป็นเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด เป็นอุปกรณ์ที่จะทำหน้าที่ปั๊มเลือดทดแทนการบีบตัวของหัวใจ ร่วมกับทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนทดแทนปอด โดยอาศัยหลักการเดียวกับเครื่องหัวใจและปอดเทียม (cardiopulmonary bypass machine) ที่ใช้ในการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้สามารถใช้ทดแทนหัวใจและปอดได้ยาวนานและปลอดภัยขึ้น จากหลายชั่วโมงเป็นหลายวัน โดยที่มีภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด ประโยชน์ของการใช้ เอคโม่ จะช่วยประคับประคองเพื่อรอให้อวัยวะกลับมาทำงานเป็นปกติ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการติดเชื้อ ภาวะการหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ปอด ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงจนทำให้การทำงานของปอดและหัวใจผิดปกติ หรือภาวะหลังการผ่าตัดหัวใจที่หัวใจทำงานได้ไม่ดี เพื่อรอให้หัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ เป็นต้น
2. เครื่องฟอกไตอย่างต่อเนื่อง หรือ CRRT: Continuous renal replacement therapy โดยปกติเวลาฟอกไต จะต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมงและคนไข้จะต้องมีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ของเครื่องมือที่เรียกว่า CRRT ทำให้คนไข้สามารถล้างไตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถึงแม้จะมีความดันโลหิตต่ำก็สามารถล้างไตได้ โดย CRRT เป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดสำหรับผู้ป่วยวิกฤตซึ่งมีภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury, AKI) เป้าหมายคือการทดแทนการทำงานที่สูญเสียไปของไตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการขจัดของเหลวออกจากร่างกายอย่างช้า ๆ แต่ยังคงสามารถปรับสมดุลในร่างกายได้ แม้ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะไม่คงที่ อย่างภาวะช็อกหรือภาวะน้ำเกินอย่างรุนแรง ก็สามารถปรับตัวให้ทนต่อการบำบัดได้ ทั้งผู้ที่มีรูปร่างทั่ว ๆ ไป หรือมีรูปร่างเล็กก็สามารถรับการรักษาด้วย CRRT ได้ อีกทั้งยังเป็นวิธีการบำบัดที่สามารถปรับแผนการรักษา ให้เข้ากับสภาพทางกายของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการในการขจัดของเหลวส่วนเกินและของเสีย
3. เครื่องไนตริกออกไซด์ หรือ Nitric Oxide เป็นเครื่องมือที่ใช้กับผู้ที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งในอดีตหากมีการใช้เครื่องชนิดนี้หมายถึงใกล้วันที่ระบบทางเดินหายใจจะหยุดทำงาน แต่ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากของโรงพยาบาลมีงบประมาณในการซื้อเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามา เครื่องไนตริกออกไซด์ จะช่วยให้คนไข้หย่าเครื่องจากเครื่องช่วยหายใจได้ และจะค่อย ๆ ฝึกหายใจได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นรุ่นเทคโนโลยีที่ทำให้คนไข้หย่าเครื่องได้เร็ว บางรุ่นก็ไม่สามารถทำได้ การหย่าเครื่องได้เร็วจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนให้คนไข้ได้ เช่น โรคปอดบวม หรือโรคติดเชื้อจากการใส่เครื่องช่วยหายใจ ปัจจุบันเครื่องมือมีวิวัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ไนตริกออกไซด์จะช่วยเรื่องความดันปอดสูง หรือในภาวะที่ติดเชื้อ เป็นต้น
4. เครื่องช่วยหายใจ หรือ ventilator เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจเองได้หรือหายใจได้แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งเครื่องช่วยหายใจมีหน้าที่ในการช่วยหายใจ ลดการทำงานของปอดโดยมีรูปแบบการทำงานใกล้เคียงกับการหายใจในคนปกติที่มีการสร้างให้เกิดการไหลของอากาศเข้าและออกจากปอด เพื่อให้ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอและกำจัดก๊าชคาร์บอนไดอออกไซด์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เครื่องช่วยหายใจแม้จะมีประโยชน์ต่อการรักษา แต่ก็มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น การติดเชื้อ ภาวะปอดได้รับการบาดเจ็บจากการทำงานของเครื่องช่วยหายใจ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้เครื่องช่วยหายใจจึงต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญในแผนกผู้ป่วยวิกฤต
5. นวัตกรรมการรักษา
โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดมีเลือดที่แข็งตัวอุดตันที่หลอดเลือดใหญ่ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก ๆ เราจะใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า mechanical thrombectomy ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่ นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเพียงอย่างเดียว เป็นการนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมองออกผ่านทางสายสวน เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองได้ เป็นหัตถการที่ต้องใช้ความละเอียดสูง ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อทำงานในเครื่องเอกซเรย์ 2 ระนาบ (biplane angiography system) เป็นเครื่องเอกซเรย์สำหรับใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาระบบหลอดเลือดโดยเฉพาะ ภาพที่ได้จะมีรายละเอียดและความคมชัดสูง สามารถสร้างภาพ 3 มิติของหลอดเลือดและภาพตัดขวางในบริเวณที่ต้องการได้ ช่วยให้แพทย์มองเห็นสายสวนและพยาธิสภาพของหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมากได้อย่างชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารทึบรังสีปริมาณมาก ลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากสารทีบรังสี ช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ภายใต้องค์ความรู้และประสบการณ์ของคณะแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางผู้ป่วยวิกฤต และทีมพยาบาลผู้มีความชำนาญพิเศษในการดูแลผู้ป่วยหนัก ทำให้แผนกผู้ป่วยหนักได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการ ทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งมักเกิดจากการบอกต่อนั้น รวมถึงได้รับการยอมรับในระดับนานาประเทศ ล้วนมีองค์ประกอบปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ทั้งระบบและวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อให้เกิดการทำงานแบบเชิงรุก และเตรียมความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ บุคลากรมีความชำนาญการและประสบการณ์ในระดับสูง ทีมสหสาขาวิชาชีพให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ มีแนวปฏิบัติในการรักษาที่เป็นมาตรฐาน มีกระบวนการวางแผนที่เหมาะสม มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ครบครัน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความชำนาญในการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สถานที่พร้อมใช้งานตลอดเวลาและเป็นมาตรฐาน มีกระบวนการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล มีกระบวนการพัฒนาความรู้และศักยภาพของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงทำงานด้วยความเต็มใจและมีใจรักบริการ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทุกคนปรารถนาคือ ‘ความปลอดภัยของผู้ป่วย’ ซึ่งบำรุงราษฎร์ได้ตระหนักและดำเนินการตามมาตรฐานระดับสากลมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
เรียบเรียงโดย
แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โทร. 02 066 8888
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
- แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)
แผนกผู้ป่วยหนัก 1
Tel: 02 011 2510
แผนกผู้ป่วยหนัก 2
Tel: 02 011 2520
แผนกผู้ป่วยหนัก 3
Tel: 02 011 2300
แผนกผู้ป่วยหนัก 4
Tel: 02 011 2400
แผนกผู้ป่วยวิกฤติหัวใจ
Tel: 02 011 2500
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565