ปวดหลังเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณของโรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่
โรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่หมายถึงผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีและมีกระดูกสันหลังคดเกินกว่า 10 องศา หากดูจากภาพเอกซเรย์ทางด้านหน้าและทางด้านหลังจะเห็นแนวกระดูกสันหลังเป็นรูปตัว S หรือตัว C แทนที่จะเป็นแนวตรงเหมือนคนปกติ
โรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่มีกี่ประเภท
โรคกระดูกสันหลังคดที่วินิจฉัยพบในผู้ใหญ่ อาจแยกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆดังนี้
- โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุ (adult idiopathic scoliosis) ผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา โดยอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดขึ้นได้ที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนบน (thoracic spine) และกระดูกสันหลังส่วนล่าง (lumbar spine) กระดูกสามารถคดมากขึ้นจากหมอนรองกระดูกเสื่อมและ/หรือแนวกระดูกสันหลังที่ไม่สมดุล (sagittal imbalance) โรคกระดูกพรุนรวมถึงภาวะข้ออักเสบ (arthritis) ที่มีผลกระทบต่อข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้มีกระดูกงอก (bone spurs) ขึ้นมา
- โรคกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อม (degenerative scoliosis) เกิดจากหมอนรองกระดูกเสื่อม หากหมอนรองกระดูกข้างใดข้างหนึ่งเสื่อมเร็วกว่าอีกข้าง จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเอียงและกดทับกระดูกสันหลังด้านใดด้านหนึ่ง ส่งผลให้กระดูกสันหลังคดและโค้งได้ กระดูกสันหลังคดจากความเสื่อมมักเกิดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง (lumbar spine) และส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
อาการของโรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่
โรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่ทำให้มีอาการดังนี้
- โรคกระดูกคดในผู้ใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้มีอาการมากขึ้นกว่าตอนเป็นวัยรุ่นได้เนื่องจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกและข้อต่อ อาการที่พบได้บ่อยคือปวดหลังส่วนล่างและหลังแข็ง และอาจมีอาการชา ปวดร้าวลงขา
- โรคกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อม ทำให้มีอาการปวดหลัง อาการชาและปวดร้าวลงขา
วินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่ได้อย่างไร
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้
- การเอกซเรย์ (x-ray) ทางด้านหน้าและด้านข้างลำตัวเพื่อดูแนวกระดูกสันหลังและองศาความคดของกระดูกสันหลัง
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงหรือปวดขา แพทย์อาจตรวจด้วย MRI เพิ่มเติม
วิธีการรักษาโรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่
การรักษาขึ้นอยู่กับอาการของโรค หากผู้ป่วยไม่มีอาการ แพทย์อาจติดตามอาการโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา การรักษาขั้นแรกมักเป็นการกายภาพบำบัด การปรับเปลี่ยนโภชนาการ การออกกำลังกาย โดยทั่วไปการรักษาโรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่ทำได้ด้วยวิธีการดังนี้
- การติดตามอาการ
- การใช้ยาแก้ปวด
- การใส่เสื้อเกราะ ใส่ในระยะสั้นเพื่อลดอาการเจ็บปวด
- การออกกำลังกาย เพื่อทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังแข็งแรง เพิ่มความยืนหยุ่น
- การกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการเจ็บปวดและทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
- การฉีดยาบล็อกเส้นประสาท (epidurals หรือ nerve block injections) เพื่อระงับอาการเจ็บปวดชั่วคราว
- การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (spinal fusion) สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล มีกระดูกสันหลังที่ไม่สมดุล (spinal imbalance) ทำให้ศีรษะไม่เป็นแนวเดียวกับกระดูกเชิงกรานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เป้าหมายคือการลดการกดทับเส้นประสาทและป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น สามารถทำได้ด้วยวิธีการส่องกล้องเพื่อผ่าตัดกระดูกสันหลัง โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยสูง ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น
- O-arm Navigation System: ระบบคอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิตินำวิถี
- IOM – Intraoperative Neuromonitoring: เครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด จะติดตามการทำงานของระบบประสาทและไขสันหลังในระหว่างการผ่าตัด เป็นการใช้เทคนิคทางด้านประสาทสรีรวิทยา
- Hypotensive Anesthesia: การลดความดันเลือดขณะดมยาสลบระหว่างผ่าตัด
สามารถป้องกันโรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่ได้หรือไม่
โรคกระดูกคดในผู้ใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุไม่สามารถป้องกันได้ แต่โรคกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อมที่เกิดจากวัยที่สูงขึ้น อาจป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ เช่น การว่ายน้ำและการออกกำลังกายที่สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อท้องและหลัง
โรคของกระดูกสันหลัง หากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตยิ่งขึ้น ศูนย์การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังคด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในการให้คำปรึกษาและรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยวิธีการผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บปวดและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม
เกี่ยวกับผู้เขียน
นพ. สำเริง เนติ
ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและกระดูกข้อมือ สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 04 กรกฎาคม 2567