โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก รู้เร็ว ยิ่งรักษาได้ง่าย
โรคกระดูกสันหลังคดคือ การที่แนวกระดูกสันหลังมีการผิดรูปจากปกติ ทำให้แนวกระดูกคดโค้งมากกว่า 10 องศา โดยคดเป็นรูปตัว S หรือรูปตัว C ไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาหรือคดทั้งด้านซ้ายและด้านขวาในตำแหน่งที่แตกต่างกัน เกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอก (thoracic spine) และกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spine)
โรคกระดูกสันหลังคดในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่วนใหญ่แล้วไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักพบในเด็กที่มีอายุระหว่าง 10 – 18 ปีและพบในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอาจมีดังนี้
- เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (idiopathic scoliosis)
- เป็นมาแต่กำเนิด (congenital scoliosis)
- เกิดจากโรคความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (neuromuscular scoliosis) เช่น โรคสมองพิการ (cerebral palsy) มาร์แฟนซินโดรม (marfan syndrome) และภาวะบกพร่องของกระดูกสันหลัง (spina bifida)
- การติดเชื้อ
- การบาดเจ็บ
- เนื้องอกบริเวณกระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง
- ขาสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน
อาการของโรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก
เด็กที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดไม่มากมักไม่มีอาการหรือไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ แต่ผู้ปกครองอาจสังเกตสัญญาณความผิดปกติได้ดังนี้
- ไหล่สองข้างไม่เท่ากัน
- ตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
- เอวไม่เสมอกัน
- สะโพกสูงต่ำไม่ท่ากัน
- สะบักสองข้างไม่เท่ากัน
- แขนยาวไม่เท่ากันขณะยืนตัวตรง
วินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคดในเด็กได้อย่างไร
แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดและอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้
- การเอกซเรย์ (x-ray) เพื่อดูองศาความโค้งของกระดูกสันหลัง
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจดูโครงสร้างภายในร่างกาย เช่น ไขสันหลัง รากประสาท ความเสื่อมและการผิดรูปของกระดูกสันหลัง
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อดูรายละเอียดของโครงสร้างกระดูกสันหลัง เช่น รูปร่างและขนาดของโพรงกระดูกสันหลัง
วิธีการรักษาโรคกระดูกสันหลังคดในเด็กมีอะไรบ้าง
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ลักษณะความโค้งและองศาความโค้งของกระดูกสันหลัง อายุและสุขภาพโดยรวมของเด็ก โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
- การติดตามอาการ เด็กส่วนใหญ่จะมีกระดูกสันหลังคดไม่มาก แพทย์จะใช้วิธีการติดตามอาการทุก 4-6 เดือนเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง ความโค้งของกระดูกสันหลังมักหยุดหลังจากเด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
- การใส่เสื้อเกราะ หากเด็กมีกระดูกสันหลังคดปานกลาง แพทย์อาจแนะนำให้ใส่เสื้อเกราะเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น
- การกายภาพบำบัด แพทย์อาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงหลัง
- การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (spinal fusion) ในกรณีที่กระดูกสันหลังยังคงคดเพิ่มขึ้นเกิน 45 องศาหลังจากการใส่เสื้อเกราะแล้ว และเด็กอยู่ในวัยที่ยังมีการเจริญเติบโต แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อแก้ไขมุมความคดของกระดูกสันหลังให้ตรงยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยสูง ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น
- O-arm Navigation System: ระบบคอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิตินำวิถี
- IOM – Intraoperative Neuromonitoring: เครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด จะติดตามการทำงานของระบบประสาทและไขสันหลังในระหว่างการผ่าตัด เป็นการใช้เทคนิคทางด้านประสาทสรีรวิทยา
- Hypotensive Anesthesia: การลดความดันเลือดขณะดมยาสลบระหว่างผ่าตัด
- การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้การรักษาทำได้ง่ายขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้จนเด็กมีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ปอดและหัวใจทำงานผิดปกติได้ ศูนย์การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังคด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้บริการตรวจวินิจฉัยและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยใช้วิธีการผ่าตัด โดยทีมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ตั้งแต่ศัลยแพทย์ทางด้านกระดูกสันหลัง แพทย์ระบบประสาทศัลยศาสตร์ แพทย์อายุรกรรม วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและภายภาพบำบัด แพทย์ผู้ชำนาญการผู้ป่วยวิกฤตเด็ก (Pediatric Intensivist) รวมถึงพยาบาลซึ่งผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคดมาโดยเฉพาะ
เกี่ยวกับผู้เขียน
นพ. สำเริง เนติ
ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและกระดูกข้อมือ สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567