เชื้อไวรัสหลาย ๆ ตัวในบ้านเรามักจะระบาดในช่วงหน้าฝน เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ Influenza หรือเชื้อ คล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ เช่น Parainfluenza หรือไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ หรือที่ไม่เกี่ยวกับทางเดินหายใจโดยตรง อย่างโรคมือเท้าปากก็เช่นเดียวกันก็มักจะระบาดในช่วงหน้าฝน เชื้อที่สำคัญที่สุดในเด็กที่สำคัญที่สุดในเด็กอันหนึ่งที่เป็นที่ผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลมากที่สุดก็คือ เชื้อ RSV
RSV คือ อะไร RSV เป็นชื่อย่อ ชื่อเต็ม คือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ในคนโดยเฉพาะ สามารถเกิดได้ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูกรวมไปถึงกล่องเสียง ในช่องคอ ถึงระบบหายใจส่วนล่าง ตั้งแต่หลอดลมใหญ่ หลอดลมเล็ก ปอด ในเด็กโต อายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ ถ้าติดเชื้อ ก็มักจะเป็นระบบหายใจส่วนบนเป็นหลัก ส่วนในเด็กเล็กอายุแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี ก็เป็นได้ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน และลงไปถึงระบบหายใจส่วนล่างด้วย จึงมักมีอาการที่เยอะกว่า อาการส่วนใหญ่ที่จะมาหาพบหมอ จะมีตั้งแต่เป็นไข้นำมาก่อน เด็กบางคนจะมีไข้สูง บางคนก็จะมีไข้ต่ำ ๆ แล้วก็มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก ช่วงแรกน้ำมูกจะใส และบางคนก็จะเริ่มมีไอ ผ่านไปอีกสักวันสองวันก็จะเริ่มน้ำมูกจะเริ่มเหนียวขึ้น แล้วก็จะไอเป็นเสมหะ ไอโขรกชัดเจน บางคนไอจนอาเจียน บางคนไอจนไม่ได้นอน บางคนไอจนหน้าเขียว และถ้าเป็นหนักขึ้นก็จะลงไปที่ระบบหายใจส่วนล่าง เด็กก็จะมีอาการหอบ หายใจลำบากร่วมไปด้วย อาการเหล่านี้เป็นอาการค่อนข้างซีเรียส
การรักษา เมื่อมาพบกุมารแพทย์ จะให้การดูแลรักษาตามความรุนแรงของโรคเป็นหลัก เด็กบางคนที่เป็นไม่เยอะก็จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ในเด็กที่มีอาการเยอะ อายุน้อย หรือมีโรคประจำตัวหลาย อย่างๆ ก็อาจจะจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งจะมีการรักษาตั้งแต่ การให้น้ำเกลือเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำ เนื่องด้วยยาที่จะไปฆ่าเชื้อไวรัส RSV นี้ยังไม่มี การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาขยายหลอดลม การให้ยาละลายเสมหะ การให้ยาลดน้ำมูกในช่วงแรกซึ่งอาจจะมีความจำเป็น บางคนอาจจะต้องได้รับยาแก้อักเสบร่วมไปด้วยตามดุลพินิจของแพทย์ซึ่งอาจพิจารณาว่ามีเชื้อแบคที่เรียปนเข้ามาด้วย การให้ยาสเตียรอยด์บางครั้งก็อาจมีความจำเป็นในกรณีที่เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ หรือ โรคภาวะหลอดลมไวร่วมด้วย
ช่วงที่เป็นฤดูระบาด คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ในช่วงนี้ต้องระมัดระวัง เด็กที่เป็นหวัดในช่วงนี้อาจต้องคำนึงถึงเรื่องการติดเชื้อ RSV หรือ ไข้หวัดใหญ่มากกว่าเชื้ออื่น ๆ หากไม่สบายควรต้องไปพบแพทย์แต่เนินๆ เพื่อรับการวินิจฉัยให้เร็วและรักษาได้ถูกต้องทันท่วงที
การป้องกัน มี 2 ส่วนที่ 1 คือ การป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่ว ๆ ไป เช่น ล้างมือ การใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงไปในที่ ๆ มีคนป่วยเยอะ หากรู้ตัวว่าไม่สบายควรกักตัวอยู่บ้าน หรือรู้ตัวว่าติดเชื้อ RSV ควรหยุดเรียน
การป้องกันส่วนที่ 2 เป็นการป้องกันเฉพาะเจาะจง คือ การฉีดวัคซีนหรือการให้ภูมิคุ้มกันโรคแบบสำเร็จ สำหรับป้องกันเชื้อ RSV
ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีน RSV สำหรับเด็กทั่ว ๆ ไป ที่เรามีตอนนี้ คือ วัคซีนป้องกันเชื้อ RSV สำหรับผู้ใหญ่อายุ 60 ปี ขึ้นไป เนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีอาการของโรคติดเชื้อ RSV ได้รุนแรงเช่นกัน สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยง เช่น คลอดก่อนกำหนด โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เรามีการให้ภูมิต้านทานโรคเฉพาะแบบสำเร็จรูป ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับป้องกันการติดเชื้อ RSV ได้ ซึ่งแตกต่างจากวัคซีน เพราะเป็นภูมิสำเร็จ เมื่อฉีดเข้าไปร่างกายจะสร้างภูมิได้ทันที ข้อเสีย คือ จะอยู่ได้ระยะสั้นประมาณไม่เกินหนึ่งเดือน ดังนั้น ในช่วงฤดูฝนที่มีการระบาดของเชื้อ RSV เดือน กรกฎาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงเวลาห้าเดือนนี้ ถ้าจะใช้ภูมิสำเร็จ ต้องฉีดทุกเดือนเป็นเวลาห้าเดือน ซึ่งจะช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น การใช้ภูมิสำเร็จ จึงมีข้อบ่งชี้และมีความจำเป็นต้องปรึกษากุมารแพทย์ว่าบุตรหลานของเราสมควรที่จะได้รับการให้ภูมิคุ้มกันโรคแบบสำเร็จนี้หรือไม่
นพ. กัลย์ กาลวันตวานิช
กุมารเวชศาสตร์ - กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป, กุมารเวชศาสตร์ – กุมารเวชศาสตร์โรคระบบการหายใจ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567