bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดต้อกระจก

ต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัว หากเป็นมากจะขัดขวางการมองเห็น ต้อกระจกมีขนาด ความหนา และประเภทที่แตกต่างกันไป อาการของต้อกระจก ได้แก่ มองเห็นในระยะสั้นลง หรือมองเห็นได้เฉพาะสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ เท่านั้น อาจต้องใช้แสงมากๆ ในการมองเห็น หรือมองเห็นวงแหวนรอบๆ แสงไฟในตอนกลางคืนและมองเห็นภาพซ้อนได้ อาจมองเห็นได้เลือนลาง สีต่างๆ ดูมืดทึม
 

การผ่าตัดต้อกระจก
การผ่าตัดต้อกระจก คือ การนำเลนส์ที่เป็นต้อกระจกออกจากตาและใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนที่ การผ่าตัดต้อกระจกทำโดยจักษุแพทย์เท่านั้น
การเกิดต้อกระจกเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ โดยที่โปรตีนบริเวณเลนส์ตาเกิดการขุ่น เช่นเดียวกับการที่ผมดำกลายเป็นผมหงอก เมื่อตอนแรกเกิดนั้นเลนส์ตาจะประกอบไปด้วยของเหลวสีใสข้างใน เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์นี้จะเริ่มเป็นสีเหลืองและมีลักษณะเหมือนเจล และเมื่ออายุมากขึ้นไปอีก เลนส์สีเหลืองนั้นจะเริ่มขุ่นมัวและมีลักษณะแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลต่อการมองเห็นเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า จึงเรียกภาวะนี้ว่า ต้อกระจก

นอกจากนี้ ลักษณะโครงสร้างของตา การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ก็นำไปสู่
ต้อกระจกได้ เช่นเดียวกับการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตบีหรือ cortisone (สเตียรอยด์) ก็ทำให้เกิดการก่อตัวของต้อกระจกได้เร็วขึ้นเช่นกัน
การมองเห็นที่ดีเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข การผ่าตัดต้อกระจกช่วยให้การมองเห็นกลับมาดีได้ การศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การผ่าตัดต้อกระจกสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับการมองเห็นกลับคืนมาและใช้ชีวิตที่มีคุณภาพได้ เช่น อ่านหนังสือ ทำงาน เดินไปรอบๆ ทำกิจกรรมยามว่าง ขับรถในช่วงกลางวันและกลางคืน มีกิจกรรมทางสังคม มีความปลอดภัยและความมั่นใจ สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองและมีสุขภาพจิตที่ดี

 
ภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด
  • การเกิดการฉีกขาดของถุงหุ้มเลนส์ด้านหลัง (tear or rupture of posterior lens capsule) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ในหลายขั้นตอนของการผ่าตัดต้อกระจกและนำมาสู่ภาวะเลนส์ต้อกระจกตกไปในช่องน้ำวุ้นตาได้
  • เศษของเลนส์ต้อกระจกตกไปอยู่ที่ช่องน้ำวุ้นตา (posterior dislocation of lens material) หรือ พบไม่บ่อยนัก จักษุแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด (vitrectomy) เพื่อนำเลนส์ที่ตกนี้ออกไป ภาวะนี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง สามารถรักษาได้
  • ภาวะเลือดออกในชั้นคอรอยด์ (choroidal hemorrhage) ภาวะนี้พบได้น้อย มักพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุและผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เป็นอาการแทรกซ้อนที่ไม่สามารถคาดเดาได้ หากเลือดที่ออกนี้มีเพียงบริเวณเล็กๆ ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เองโดยไม่สูญเสียการมองเห็น แต่หากมีเลือดออกเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยอาจสูญเสียการมองเห็นได้ การผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันเป็นการผ่าด้วยแผลเล็ก ซึ่งช่วยลดโอกาสการเกิดความรุนแรงของภาวะเลือดออกนี้ได้

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
  • อาการคันและไม่สบายตาเล็กน้อย อาจเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันหลังจากผ่าตัดซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตาหรือกดน้ำหนักลงบนตา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยปิดตาหรือใส่ที่ครอบตาไว้และจะสั่งยาหยอดตาหรือยาชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการอักเสบ และควบคุมความดันในตา หลังจากนั้นไม่กี่วัน ความไม่สบายตาควรจะหายไป โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้สมบูรณ์ภายใน 8 สัปดาห์
  • การติดเชื้อรุนแรงภายในตา (endophthalmitis) การป้องกันทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตาในวันผ่าตัด ทำความสะอาดบริเวณรอบๆ ดวงตาด้วยน้ำยาที่เหมาะสม และคลุมใบหน้าด้วยผ้าปราศจากเชื้อ หลังจากผ่าตัดแล้วให้ยาปฏิชีวนะอีกครั้ง อย่างไรก็ตามแม้จะปฏิบัติตามนี้แล้วก็ยังมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ประมาณ 1 ใน 3,000
  • จอประสาทตาหลุดลอก (retinal detachment) การผ่าตัดต้อกระจกอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของจอประสาทตาหลุดลอกได้ อาการที่สังเกตคือ การมองเห็นไฟแวบๆ หรือจุดดำๆ ลอยไปมา ควรติดต่อจักษุแพทย์ทันทีหากมีอาการดังกล่าว จอประสาทตาหลุดลอกพบได้ประมาณ 5-16 รายต่อการผ่าตัด 1,000 ครั้ง ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีสายตาสั้นมากๆ
  • จุดรับภาพบวม (cystoid macular edema) พบได้น้อย เกิดจากมีการอักเสบในตาทำให้เกิดการรั่วซึมของหลอดเลือดฝอยที่จอประสาทตาและมีของเหลวสะสมที่บริเวณจุดรับภาพ macula ซึ่งอยู่ส่วนกลางของจอประสาทตาส่งผลให้การมองเห็นลดลง ดังนั้นหากผู้ป่วยสังเกตถึงการมองเห็นที่น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไปหลังจากผ่าตัด ควรมาพบจักษุแพทย์โดยด่วนและตรวจดูความรุนแรงของการบวมด้วยเครื่อง optical coherence tomography หรืออาจมีการตรวจฉีดสี (fluorescein angiography) ร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาหยอดตาเพื่อลดการอักเสบ แต่บางรายอาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาเข้าไปด้านหลังลูกตาหรือผ่าตัด (vitrectomy)

อาการผิดปกติที่ควรติดต่อแพทย์ทันที
  • สูญเสียการมองเห็น
  • ความเจ็บปวดที่ยังคงอยู่แม้ว่าจะใช้ยาแก้ปวดแล้ว
  • ตาแดงเพิ่มมากขึ้น
  • มองเห็นแสงแวบๆ หรือจุดหลายๆ จุดอยู่ที่ตา
  • อาเจียนและไอมากๆ
การรักษาโรคต้อกระจกสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ในระยะแรกของโรคที่ยังไม่รบกวนการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันสามารถบรรเทาได้ด้วยการตัดแว่นสายตาใหม่หรือใช้ยาหยอดตา จนกระทั่งโรคมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ควรพิจารณาที่จะทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเลนส์ตา

 
ในหลายๆ กรณีนั้น การรอรับการผ่าตัดต้อกระจกไม่เป็นอันตรายต่อตาแต่อย่างใด หากผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ดีหรือมีโรคอื่นๆ ที่ยังควบคุมได้ดี อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดไปอีกหลายปี อาจพิจารณาด้วยคำถามเหล่านี้
  • สามารถมองเห็น ทำงานและขับรถได้อย่างปลอดภัยอยู่หรือไม่
  • มีปัญหาในการอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์หรือไม่
  • เป็นเรื่องยากหรือไม่ในการทำอาหาร จับจ่ายซื้อของ ทำสวน ปีนบันได หรือรับประทานยา
  • ปัญหาเรื่องการมองเห็นส่งผลต่อการใช้ชีวิตคนเดียวหรือไม่
  • มีความยากลำบากในการมองเห็นหน้าผู้อื่นหรือไม่
  • ที่ที่มีแสงสว่างทำให้มองลำบากหรือไม่
แก้ไขล่าสุด: 26 กุมภาพันธ์ 2566

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 2.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 8 คน

Related Health Blogs