bih.button.backtotop.text

การควบคุมและรักษาโรคเบาหวานด้วย Insulin Pump และ Glucose Sensor

เครื่อง Insulin Pump และเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หรือ Glucose Sensor ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องพึ่งอินซูลินและชนิดที่ 2 ที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ สามารถควบคุมและรักษาโรคเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ขั้นตอนการทำงานของ Insulin Pump และ Glucose Sensor

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานจะทราบค่าน้ำตาลในเลือดได้ด้วยการใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง ซึ่งทำได้โดยการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว ทำให้ทราบระดับน้ำตาลในเลือดในขณะที่ตรวจ แต่ไม่สามารถทราบค่าต่อเนื่องได้ตลอดเวลา แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบการตรวจวัดระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง (Continuous Glucose Monitoring หรือ CGM) ขึ้น ทำให้ผู้ป่วยทราบระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นระยะ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบนี้ประกอบไปด้วย

  • Glucose Sensor เป็นอุปกรณ์ขนาดจิ๋วสำหรับตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งสามารถใส่ไว้ใต้ผิวหนังของผู้ป่วยได้อย่างง่ายๆ เซ็นเซอร์จะตรวจวัดระดับน้ำตาลในของเหลวระหว่างเซลล์ในเนื้อเยื่อ interstitial fluid เป็นระยะ เช่น ทุกๆ 5 นาที แล้วส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุไปยังเครื่องรับสัญญาณ ผู้ป่วยจึงสามารถทราบระดับน้ำตาลในเลือดและแนวโน้มการขึ้นลงของน้ำตาลได้ตลอดเวลา และเครื่องยังมีระบบเตือนเมื่อระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำผิดปกติ


คนไข้สามารถใช้ Glucose Sensor ร่วมกับ Insulin Pump เพื่อให้สามารถปรับการใช้อินซูลินสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น นอกจากนั้นคนไข้เบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี มีการแกว่งของระดับน้ำตาลมาก สามารถรับบริการติด sensor ในศูนย์เบาหวาน และมี sensor ช่วยวัดระดับน้ำตาลเป็นเวลา 6 วัน จากนั้นจึงถอดออกเพื่อดาวน์โหลดข้อมูลสำหรับดูผลน้ำตาลย้อนหลัง รวมถึงดูแนวโน้มของระดับน้ำตาลว่าควรปรับยาและอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้ การใช้ Glucose Sensor ยังจำเป็นต้องทำร่วมกับการเจาะตรวจเลือดจากปลายนิ้วเป็นระยะ เพื่อให้การตรวจมีความแม่นยำมากขึ้น
 

  • Insulin Pump เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เสมือนตับอ่อนคือ ให้อินซูลินเข้าสู่ร่างกายในขนาดที่แพทย์ตั้งไว้ให้เหมาะสมกับความต้องการอินซูลินของผู้ป่วย Insulin Pump มีขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมสามารถคลิปติดกับเข็มขัดหรือใส่ในกระเป๋าเสื้อผ้าได้ ตัวเครื่องบรรจุหลอดอินซูลินเล็กๆ ที่จะเปลี่ยนใหม่เมื่อใช้หมด พร้อมท่อชนิดอ่อนต่อเชื่อมไป แล้วค่อยๆ ปล่อยอินซูลินเข้าไปใต้ผิวหนังอย่างช้าๆ


สำหรับการหลั่งอินซูลินจากเครื่องสามารถทำได้ 2 แบบคือ

  1. แบบ basal หรือการปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกายครั้งละน้อยแต่ต่อเนื่องตลอดเวลา
  2. แบบ bolus เป็นการเพิ่มอินซูลินตามพฤติกรรมการบริโภคของผู้ป่วย หรือตามระดับน้ำตาลในเลือด ณ ขณะใดขณะหนึ่ง

ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยควรได้รับอินซูลินเป็นปริมาณเท่าใด

Insulin Pump เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่ตับอ่อนเริ่มไม่สร้างอินซูลินแล้ว โดยเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลินแบบหลายครั้งในหนึ่งวัน


นอกจากนี้ Insulin Pump ยังเหมาะสำหรับ

  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ใช้ยาฉีดอินซูลินแล้วยังคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลขึ้นๆ ลงๆ หรือมีปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยครั้ง หรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำโดยไม่มีอาการซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้
  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่วางแผนตั้งครรภ์ซึ่งจำเป็นต้องคุมน้ำตาลอย่างเคร่งครัด

ผู้ป่วยสามารถมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและติด Insulin Pump ได้ทันที การติดใช้เวลาไม่นาน เวลาใส่ catheter สำหรับให้อินซูลิน จะรู้สึกเจ็บจากเข็มจิ้ม ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการใช้และดูแลอุปกรณ์อย่างละเอียดจากแพทย์และเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง โดยอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นจึงกลับบ้านได้ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการติดตามการรักษาจากทีมแพทย์และพยาบาล และมีการนัดกลับมาติดตามการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลและปรับ Insulin Pump ได้เอง

  1. ช่วยให้ผู้ป่วยทราบและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้การควบคุมโรคและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนทำได้ดีขึ้น
  2. ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลมากขึ้นในการรักษา สามารถนำข้อมูลมาปรับวิธีและยาที่จะใช้ได้
  3. ช่วยให้ระดับน้ำตาลสะสมของผู้ป่วยดีขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลดต่ำลง
  4. ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ทั้งจากการเจาะปลายนิ้วและการฉีดอินซูลิน
  5. Insulin Pump ช่วยให้ปริมาณการใช้อินซูลินน้อยลง เนื่องจากเป็นการค่อยๆ หลั่งอินซูลินทำให้การดูดซึมดีกว่าการฉีดเป็นครั้งๆ
  6. ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสามารถปรับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องไปกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้ เช่น การเลือกชนิดของอาหาร การออกกำลังกาย การเดินทาง
  7. อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อมีอุปกรณ์ฝังอยู่ในร่างกาย นอกจากนี้ ในช่วงแรกของการใช้งานอาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการศึกษาวิธีใช้ ผู้ป่วยจึงต้องมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้เพื่อการใช้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  • หากใช้งานอุปกรณ์ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณที่ติดอุปกรณ์ได้
  • อาจเกิดกรณีอุปกรณ์มีปัญหาระหว่างการใช้งาน เช่น การปล่อยอินซูลินติดขัด เข็มเซ็นเซอร์หักงอ
ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการใช้งานและดูแลอุปกรณ์จากแพทย์อย่างเคร่งครัด และให้ความร่วมมือในการมาพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการตามนัดหมายทุกครั้ง
แก้ไขล่าสุด: 31 มกราคม 2564

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ต่อมไร้ท่อ เบาหวานและโภชนบำบัด

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.38 of 10, จากจำนวนคนโหวต 13 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง