bih.button.backtotop.text

การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง

การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasmapheresis) คือ วิธีการรักษาชนิดหนึ่งที่แยกพลาสมาหรือน้ำเหลืองออกจากเลือด เพื่อกำจัดสารที่เป็นตัวก่อโรคซึ่งหมุนเวียนอยู่ในพลาสมาออกไปจากเลือดผู้ป่วย โดยแยกพลาสมาหรือน้ำเหลืองออกจากเลือดแล้วคืนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดที่แยกพลาสมาออกแล้วกลับไปยังร่างกายผู้ป่วยพร้อมด้วยสารทดแทนพลาสมาเข้าไปแทนที่พลาสมาเก่า

เมื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง ผู้ป่วยจะต้องใส่สายสวนเข้าหลอดเลือดที่แขนหรืออาจใส่ที่หลอดเลือดดำใหญ่บริเวณอก ข้อดีของการใส่สายสวนบริเวณหลอดเลือดดำใหญ่คืออัตราการไหลของเลือดสูงกว่าจากแขนและสะดวกกว่าเมื่อต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองครั้งต่อๆ ไป แต่ข้อเสียคือมักเป็นจุดที่เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะเกิดการติดเชื้อ

จุดประสงค์/ประโยชน์ในการทำหัตถการ
การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองเป็นการนำพลาสมาเก่าที่มีโรคอยู่ออกจากร่างกาย แล้วให้พลาสมาใหม่ไปแทนที่
 
  • การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมง
  • ระยะเวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับขนาดร่างกายของผู้ป่วยและปริมาณพลาสมาที่ต้องเปลี่ยนถ่าย
  • ผู้ป่วยมักต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองสัปดาห์ละหลายครั้งอยู่สองสัปดาห์หรืออาจนานกว่านั้น
  • ความถี่ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการพิจารณาของแพทย์
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการเจาะหลอดเลือดหรือใส่สายสวน ได้แก่
    • เลือดคั่งบริเวณที่เจาะ
    • มีอากาศในช่องอก
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง ได้แก่
    • ความดันโลหิตต่ำจากการส่งเลือดออกไปฟอกนอกร่างกาย
    • ความดันโลหิตต่ำเนื่องจากแรงดึงดูดน้ำในหลอดเลือดลดลง
    • เลือดออกเนื่องจากระดับพลาสมาในสารประกอบที่ทำให้เลือดจับตัวกันลดลง
    • เกิดอาการบวมน้ำเนื่องจากแรงดึงดูดน้ำในหลอดเลือดลดลง
    • สูญเสียเกล็ดเลือด
    • เกิดอาการแพ้สารเอทิลีนออกไซด์
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง ได้แก่
    • เลือดออก โดยเฉพาะเมื่อใช้ยา heparin
    • เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเนื่องจากซิเตรท
    • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • ความดันโลหิตต่ำ
    • แขนขาชาและรู้สึกเหมือนถูกทิ่มแทง
    • เกิดสภาวะมีด่างเพิ่มขึ้นในร่างกายเนื่องจากซิเตรท
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดได้ ได้แก่
    • เกิดการแพ้ยา ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแพ้ของเหลวที่ใช้แทนพลาสมาอย่างรุนแรง อาการที่มักแสดงให้เห็นขั้นแรกคือผู้ป่วยรู้สึกคัน หายใจมีเสียง หรือมีผื่น
    • ผู้ป่วยอาจแพ้กระบวนการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองเล็กน้อย โดยอาจมีไข้ รู้สึกหนาวสั่น หรือมีผื่น
    • เกิดการติดเชื้อ
    • เกิดการฟกช้ำหรือบวม
 
อาการที่ต้องติดต่อแพทย์ทันที
เมื่อกลับไปพักที่บ้านแล้ว ผู้ป่วยควรติดต่อแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
  • บริเวณที่ใส่สายสวนฟกช้ำมาก มีเลือดออกหรือบวม
  • มีอาการที่เป็นสัญญาณว่าเกิดการติดเชื้อ เช่น มีไข้และหนาวสั่น
  • เกิดชัก
  • รู้สึกคันผิดปกติหรือเกิดผื่น
  • คลื่นไส้และ/หรืออาเจียน
  • มีอาการปวดไม่ยอมหายถึงแม้จะรับประทานยาที่แพทย์จ่ายให้แล้วก็ตาม
  • ไอ หายใจมีเสียง หายใจติดขัดหรือเจ็บแน่นหน้าอก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ปวดท้อง
  • ปวดตามข้อหรือข้อติดขัด รู้สึกอ่อนแรง หรือมีอาการใดๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ตาเหลืองหรือตัวเหลือง
ผู้ที่รับการรักษาด้วยวิธีนี้อาจมีอาการดีขึ้นภายในไม่กี่วันหรืออาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น โดยมากผู้ป่วยจะมีอาการดีอยู่หลายเดือนแต่การรักษาอาจส่งผลดีนานกว่านั้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปร่างกายอาจสร้างภูมิคุ้มกันอัตโนมัติขึ้นอีก ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองจึงมักเป็นวิธีรักษาที่ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
 
หากไม่ทำหัตถการนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ขึ้นอยู่กับสภาวะโรคที่เป็น หากเป็นภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันผิดปกติอาจส่งผลให้เกิดการทำลายเซลล์ต่างๆ ของตัวเองเพิ่มขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตในที่สุด หรือถ้าเป็นสภาวะเลือดหนืดอาจส่งผลให้ระบบการไหลเวียนเลือดในร่างกายลดลง เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสภาวะ

ผู้ที่อาจไม่สามารถเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง
การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกหรือความดันตก
 
สามารถให้อิมมูโนโกลบูลินจากผู้บริจาคแทนวิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองได้ ขึ้นอยู่กับโรคที่ผู้ป่วยเป็น
 
 
แก้ไขล่าสุด: 03 กุมภาพันธ์ 2565

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs