bih.button.backtotop.text

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดสามารถพบได้ในทารกทุกเชื้อชาติ สิ่งที่ทำให้ทารกดูตัวเหลืองนั้นเกิดจากสารที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ภายในร่างกาย บิลิรูบินสร้างขึ้นในกระแสเลือดและกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติตามธรรมชาติ ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้นบิลิรูบินจะถูกกำจัดผ่านทางรกไปยังตับของมารดา เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ตับของทารกต้องทำหน้าที่กำจัดบิลิรูบินด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากตับของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ในช่วง 2-3 วันแรก ดังนั้นทารกโดยทั่วไปจึงมีภาวะตัวเหลืองที่สังเกตได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
 

ลักษณะเฉพาะของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
  • อาการตัวเหลืองจะเริ่มจากบริเวณใบหน้า แล้วกระจายไปยังส่วนอก ท้อง แขนและขา ตามระดับของบิลิรูบิน ทารกบางรายอาจสังเกตบริเวณตาขาวมีสีเหลืองกว่าปกติ
  • ภาวะนี้จะดีขึ้นหลังจากอายุ 1 สัปดาห์และจะหายเป็นปกติภายในอายุ 1 เดือน
  • โดยมากแล้วภาวะนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก ยกเว้นในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมากอาจมีผลต่อสมองของทารกได้
  • ทารกที่ได้รับนมไม่เพียงพอมีน้ำหนักลดมากมีโอกาสตัวเหลืองมากกว่าปกติ ดังนั้นการให้นมมารดาจึงควรให้อย่างน้อย 8-12 มื้อต่อวันในช่วงแรกเพื่อเป็นการกระตุ้นให้มารดาสร้างน้ำนมได้มากขึ้นและช่วยลดอาการตัวเหลืองของทารก
  • เนื่องจากนมมารดาเป็นอาหารที่สำคัญของทารก หากมีปัญหาในการให้นมบุตร กรุณาปรึกษากุมารแพทย์ พยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญการให้นมบุตร
โดยมากแล้วภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา แต่หากแพทย์ต้องการรักษา ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการใช้แสงไฟชนิดพิเศษ โดยให้ทารกถอดเสื้อผ้านอนอยู่ใต้แสงไฟดังกล่าวจนกว่าระดับบิลิรูบินจะลดลงจนถึงระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อทารก
 
  • ทารกที่ได้รับเฉพาะนมมารดา ภาวะนี้อาจอยู่นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่ในทารกที่ได้รับนมผสม ภาวะนี้จะหายไปใน 2 สัปดาห์
  • หากทารกยังคงตัวเหลืองเมื่ออายุ 4 สัปดาห์ขึ้นไปร่วมกับอุจจาระสีซีดแล้ว กรุณาปรึกษากุมารแพทย์ของท่าน
  • การให้นมบ่อยๆ (อย่างน้อย 8-12 มื้อต่อวัน) จะทำให้ทารกถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น เป็นการช่วยลดระดับบิลิรูบินออกไปทางลำไส้ได้ทางหนึ่ง
  • ในกรณีที่ทารกตัวเหลืองจากสาเหตุที่เรียกว่า “breast milk jaundice“ ทารกอาจต้องงดนมมารดาประมาณ 1-2 วันจนกว่าระดับบิลิรูบินลดลงเป็นปกติ ระหว่างนี้มารดาอาจบีบนมทิ้งไปก่อนเพื่อให้มีการสร้างน้ำนมต่อเนื่องและเพียงพอจนกว่าจะเริ่มให้นมมารดาอีกครั้ง โดยสามารถให้นมมารดาต่อไปได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อทารก
แก้ไขล่าสุด: 17 เมษายน 2566

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs