bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดม้าม

การผ่าตัดม้าม (splenectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำม้ามออกทั้งชิ้น การผ่าตัดที่นำม้ามออกเพียงบางส่วนเรียกว่า partial splenectomy

ม้ามมีขนาดประมาณเท่ากำปั้นอยู่บริเวณใต้กะบังลมด้านซ้ายใกล้กระเพาะอาหาร เป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ม้ามมีเม็ดเลือดขาวพิเศษที่คอยทำลายแบคทีเรียและช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้อาการติดเชื้อเมื่อเราป่วย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดแดงและช่วยกำจัดหรือกรองเม็ดเลือดแดงเก่าๆ ออกจากการไหลเวียนในร่างกายอีกด้วย
 

จุดประสงค์/ประโยชน์ของการทำหัตถการ
การผ่าตัดม้ามรักษาโรคและอาการต่างๆ ได้หลายโรค แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดม้ามหากผู้ป่วยมีภาวะต่อไปนี้
  • ม้ามแตก ผู้ที่ม้ามแตกเนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้องอย่างรุนแรงหรือเพราะม้ามโตอาจเลือดตกในจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ กรณีที่ม้ามแตกมักต้องผ่าตัดเอาม้ามออก
  • โรคที่เกิดจากโลหิตผิดปกติ ผู้ที่ป่วยเพราะโลหิตผิดปกติอย่างรุนแรงมักต้องตัดม้าม เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำจากภาวะเกล็ดเลือดถูกทำลาย (idiopathic thrombocytopenic purpura: ITP) ภาวะเลือดข้น (polycythemia vera) โรคธาลัสซีเมียและโรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว แต่ปกติจะใช้วิธีตัดม้ามต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
  • มะเร็ง มะเร็งบางชนิดมีผลต่อม้าม เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์ (chronic lymphocytic leukemia: CLL) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินและชนิดนอนฮอดจ์กิน (Hodgkin's lymphoma and Non-Hodgkin's lymphoma) ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องตัดม้ามหากพบมะเร็งที่ม้ามหรือม้ามโตเนื่องจากมะเร็ง นอกจากนี้ยังมักรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์มีขน (hairy cell leukemia) ด้วยการตัดม้ามด้วย
  • ภาวะติดเชื้อ หากม้ามติดเชื้ออย่างรุนแรงหรือในม้ามมีหนองปริมาณมากที่มีฝีล้อมอยู่แล้วไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่นก็จำเป็นต้องตัดม้าม
  • ซีสต์หรือเนื้องอก อาจต้องตัดม้ามเพื่อนำซีสต์หรือเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งที่เกิดในม้ามออกหากมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเมื่อการเอาเฉพาะซีสต์หรือเนื้องอกออกทำได้ยาก
  • แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดม้ามหากม้ามโตขึ้นโดยหาสาเหตุไม่พบจากการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือดหรือสร้างภาพอวัยวะ แต่กรณีนี้เกิดไม่บ่อย
ปกติการผ่าตัดม้ามจัดเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย แต่การผ่าตัดใดๆ ก็ตามล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการผ่าตัดม้ามได้แก่
  • ตกเลือด
  • เกิดลิ่มเลือด
  • ติดเชื้อ
  • การบาดเจ็บอวัยวะอื่นใกล้เคียงม้าม เช่น กระเพาะ ตับอ่อนและลำไส้ใหญ่
 
ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระยะยาว
ผู้ที่ตัดม้ามมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อที่มีฤทธิ์ร้ายแรงหรือทำอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่ผ่าตัดม้าม ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบและฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี บางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไว้ก่อนโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคอื่นซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
 
ชีวิตที่ปราศจากม้าม
หลังตัดม้ามไป อวัยวะส่วนอื่นจะทำหน้าที่ทดแทนแทบทุกอย่างที่ม้ามเคยทำ ผู้ที่ตัดม้ามไปแล้วสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแต่มีโอกาสติดเชื้อที่มีฤทธิ์ร้ายแรงได้สูงกว่าผู้ที่ยังมีม้าม แพทย์มักแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบและฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อนโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคอื่นที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง โปรดแจ้งให้ผู้ที่ดูแลท่านทราบว่าท่านได้ตัดม้ามไปแล้ว ควรสวมสายรัดข้อมือที่มีข้อความแจ้งให้บุคคลอื่นทราบว่าท่านไม่มีม้าม
  • ก่อนการเดินทางมารักษา ถ้าผู้ป่วยรับประทานยารับประทานยาละลายลิ่มเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือดควรปรึกษาแพทย์เพื่อหยุดยา
  • ผู้ป่วยชาวต่างชาติควรอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์หรือตลอดระยะเวลาการรักษา
  • หากท่านมีแผนการเดินทางหลังทำหัตถการ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนทำการจองการเดินทาง ผู้ป่วยสามารถเดินทางโดยสารโดยเครื่องบินได้ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ
  • ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายและดูแลแผลผ่าตัดในวันนัด และได้รับเอกสารสรุปประวัติการรักษา เอกสาร Fit to Fly (ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ก่อนขึ้นเครื่อง)
โอกาสสำเร็จขึ้นกับปัจจัยหลายประการ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์
 
หากไม่ทำหัตถการนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวกับโรคของม้ามและความรุนแรง
 
เนื่องจากม้ามเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายไม่ให้ติดเชื้อจึงไม่ควรตัดม้ามหากไม่จำเป็นจริงๆ การผ่าตัดม้ามจัดว่าเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยหากผู้ป่วยยังอายุน้อยหรืออยู่ในวัยกลางคน แต่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหลังผ่าตัด อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหลังผ่าตัดร้อยละ 10 ส่วนการตัดม้ามของเด็กจะทำเฉพาะเมื่อเห็นว่าตัดแล้วให้ผลดีต่อเด็กมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากแพทย์ประเมินแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องตัดม้ามก็ไม่มีวิธีการรักษาอื่นใดเป็นทางเลือกได้อีก
 
แก้ไขล่าสุด: 03 กุมภาพันธ์ 2565

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ศัลยกรรม

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs