bih.button.backtotop.text

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection หรือ UTI) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้โดยง่าย ขณะที่ผู้ชายมีท่อปัสสาวะยาวกว่าและอยู่ห่างจากทวารหนัก โอกาสที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจึงมีน้อยกว่ามาก

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  1. การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อโรคในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี
  2. การดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้หญิงหากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี เช่น เช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังมาด้านหน้า แทนที่จะเป็นจากด้านหน้าไปด้านหลังก็จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อจากช่องคลอดและทวารหนักได้
  3. การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  4. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  5. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงลดลงทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
  6. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากควบคุมโรคได้ไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว
  7. ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน
  8. การใส่คาสายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่มักพบบ่อยได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อย แต่ครั้งละน้อยๆ มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุด
  • รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ปวดแสบ ขัด ขณะปัสสาวะโดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
  • ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ ในรายที่เป็นมากอาจปัสสาวะมีเลือดปน
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการซักประวัติ ร่วมกับการตรวจปัสสาวะโดยส่งเพาะเชื้อ ในกรณีที่เป็นซ้ำบ่อยๆ อาจจำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวนด์หรือส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะเพิ่มเติมว่ามีความผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ เช่น มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือนิ่วในไต

แนวการรักษาหลักๆ คือการให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วันขึ้นอยู่กับชนิดของยา ร่วมกับการรักษาตามอาการหากจำเป็น เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และพยายามดื่มน้ำให้มากๆ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเองเนื่องจากอาจได้ยาที่ไม่ตรงกับชนิดของเชื้อโรคและจะทำให้ดื้อยาได้ง่าย

  1. ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะต้องบังคับตัวเองให้เข้าห้องน้ำทันที
  2. ผู้สูงอายุหลายรายเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเนื่องจากนอนหลับนานๆ โดยไม่ลุกมาปัสสาวะ จึงไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานผลไม้ที่มีน้ำมากๆ ก่อนเข้านอน
  3. รักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศด้วยการทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
  4. ไม่สวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การทำความสะอาดด้วยสบู่ธรรมดาก็เพียงพอแล้ว
  5. หลังมีเพศสัมพันธ์ ควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดร่างกายทันที
  6. ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน เพราะหากควบคุมไม่ได้ก็จะติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก
  7. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หากมีการติดเชื้อซ้ำๆ อาจจำเป็นต้องใช้ยาปรับฮอร์โมนแบบเฉพาะที่ช่วย เช่น ยาเหน็บเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะเพื่อลดการติดเชื้อ แต่เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  8. ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาปรับภูมิต้านทาน จำเป็นต้องปรับยาตามดุลยพินิจของแพทย์
แก้ไขล่าสุด: 05 มกราคม 2564

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.70 of 10, จากจำนวนคนโหวต 109 คน

Related Health Blogs