กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection หรือ UTI) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้โดยง่าย ขณะที่ผู้ชายมีท่อปัสสาวะยาวกว่าและอยู่ห่างจากทวารหนัก โอกาสที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจึงมีน้อยกว่ามาก ดังนั้น ลองมาดูปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พร้อมกับวิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อโรคในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น ถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะต้องบังคับตัวเองให้เข้าห้องน้ำทันที
- การดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้หญิงหากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี เช่น เช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังมาด้านหน้า แทนที่จะเป็นจากด้านหน้าไปด้านหลังก็จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อจากช่องคลอดและทวารหนักได้ ผู้หญิงจึงควรรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศด้วยการทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
- การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้นไม่ควรสวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การทำความสะอาดด้วยสบู่ธรรมดาก็เพียงพอแล้ว
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ จึงควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงลดลงทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หากมีการติดเชื้อซ้ำๆ อาจจำเป็นต้องใช้ยาปรับฮอร์โมนแบบเฉพาะที่ช่วย เช่น ยาเหน็บ แต่เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากควบคุมโรคได้ไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องคุมเบาหวานให้ดี
- ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน มีโอกาสเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดังนั้น หากผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาปรับภูมิต้านทาน จำเป็นต้องปรับยาตามดุลยพินิจของแพทย์
- ผู้สูงอายุหลายรายเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเนื่องจากนอนหลับนานๆ โดยไม่ลุกมาปัสสาวะ จึงไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานผลไม้ที่มีน้ำมากๆ ก่อนเข้านอน
เรียบเรียงโดย นพ. จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: