bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาภาวะท่อน้ำตาอุดตัน


แม้ว่าการรักษาภาวะท่อน้ำตาอุดตันจะสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเปิดแผลจากด้านนอก หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (external dacryocystorhinostomy) แต่เนื่องจากวิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ต้องมีแผลผ่าตัดบริเวณด้านข้างของจมูกซึ่งแพทย์ต้องเปิดแผลผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อของเปลือกตาล่างและเปิดช่องกระดูก ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตรเพื่อทำทางระบายท่อน้ำตาใหม่ ทำให้เกิดแผลเป็นถาวรและผู้ป่วยต้องใช้เวลาฟื้นตัวค่อนข้างนาน

ปัจจุบันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจึงมักแนะนำเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบใหม่ ซึ่งนอกจากจะไม่มีแผลผ่าตัดให้เห็นแล้ว ผู้ป่วยยังฟื้นตัวได้เร็วกว่าและแผลหายเร็วกว่า นั่นคือการผ่าตัดโดยการส่องกล้องขนาดเล็กที่เรียกว่าเอ็นโดสโคป (endoscope) เข้าไปในช่องโพรงจมูกเพื่อผ่าตัดทางเชื่อมระบบท่อน้ำตาและโพรงจมูก และใช้เทคนิค flap suturing ในการเย็บเยื่อบุท่อน้ำตากับเยื่อบุจมูกเข้าด้วยกันเป็นรูเปิดสำหรับทำทางระบายท่อน้ำตาใหม่ ก่อนจะร้อยท่อซิลิโคน (silicone stent) และทิ้งไว้ประมาณ 4 สัปดาห์แล้วจึงถอดออกเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงสุด

การผ่าตัดส่องกล้องรักษาภาวะท่อน้ำตาอุดตันนี้จำเป็นต้องทำโดยจักษุแพทย์ที่ผ่านการฝึกฝนจนมีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการรักษาสูงเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการผ่าตัดวิธีนี้มีอัตราความสําเร็จของการรักษาสูงถึงร้อยละ 98-99

ก่อนและหลังการผ่าตัดส่องกล้อง
เพื่อให้แน่ใจว่าอาการน้ำตาไหลล้นของผู้ป่วยเกิดจากภาวะท่อน้ำตาอุดตัน จักษุแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยวิธีล้างท่อน้ำตา (lacrimal irrigation) ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
  • หยอดยาชาที่ดวงตาของผู้ป่วย
  • ใช้เข็มปลายทู่สำหรับล้างท่อน้ำตาโดยเฉพาะฉีดผ่านน้ำปลอดเชื้อจากรูท่อระบายน้ำตาบริเวณเปลือกตาบนและล่างทางด้านใน ผ่านน้ำจากตาลงไปยังจมูก

ในกรณีที่ระบบระบายน้ำตาเป็นปกติ น้ำที่ถูกฉีดจะผ่านจากตาลงมายังจมูกได้ทั้งหมด โดยผู้ป่วยจะรู้สึกขมคอและรับรู้ได้ว่ามีน้ำผ่านลงคอ แต่หากมีภาวะท่อน้ำตาตีบหรือตัน น้ำจะไม่สามารถผ่านลงมายังจมูกและคอได้ หรือลงมาช้ากว่าปกติและมีน้ำไหลย้อนกลับมาที่ดวงตา

ด้วยวิธีนี้นอกจากจะช่วยยืนยันสาเหตุของโรคแล้ว ยังสามารถระบุตำแหน่งได้ว่าเป็นการอุดตันบริเวณรูท่อน้ำตา ท่อน้ำตาขนาดเล็ก หรือที่ถุงระบายน้ำตา รวมทั้งระบุระดับของการอุดตันได้ด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด

หลังการผ่าตัดซึ่งใช้เวลาประมาณ 45 นาที - 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 คืนเนื่องมีการดมยาเพื่อป้องกันการสำลัก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบวมหรือเขียวเล็กน้อยบริเวณที่ผ่าตัด หรือรู้สึกเหมือนเป็นหวัดประมาณ 3-5 วัน ซึ่งแพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะนานประมาณ 1 สัปดาห์ ร่วมกับการใช้ยาหยอดตาและล้างจมูกเองที่บ้านประมาณ 1 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องปิดตา

แก้ไขล่าสุด: 01 กันยายน 2563

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.40 of 10, จากจำนวนคนโหวต 5 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง