bih.button.backtotop.text

“หรือเราจะสมองเสื่อมเสียแล้ว?”

“หรือเราจะสมองเสื่อมเสียแล้ว?”

อาการหลง  ๆ ลืม  ๆ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัย แล้วเมื่อไรจึงควรจะเป็นกังวล
 

เรื่องของความหลงลืมนั้น ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันมักจะเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่ผู้สูงวัย แต่ความธรรมดาก็อาจกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาได้ หากอาการหลง ๆ ลืม ๆ นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะสมองเสื่อม
 

นพ. เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา กล่าวกับ Better Health   ถึงอุบัติการณ์โดยทั่วไปของภาวะสมองเสื่อมว่าเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยอายุ 65 ปี พบประมาณร้อยละ 8 อายุ 70 ปีพบมากประมาณร้อยละ 15 และสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป 
 

ทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมองหลายส่วนที่พบได้ในผู้สูงอายุโดยมีลักษณะเด่นได้แก่ ความจำที่แย่ลง นอกจากนี้ ยังอาจมีภาวะเสื่อมถอยของของทักษะต่าง ๆ อันเกิดจากการทำงานของสมองจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต หรือประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น การใช้ภาษาและความเข้าใจภาษา เป็นต้น
 

นพ. เขษม์ชัยอธิบายว่า “สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากหลายโรคซึ่งมีทั้งที่สามารถรักษาให้หายขาด และรักษาไม่หายขาดในจำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 เป็นสมองเสื่อมชนิดที่รักษาหายขาด ส่วนอีกร้อยละ 80 ต้องรักษาแบบประคับประคอง”
 

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่อาจหายได้ ได้แก่ ภาวะเลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด การขาดวิตามิน บี12 โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น ไทรอยด์ และผลข้างเคียงจากการใช้ยา ส่วนสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ที่พบได้บ่อย และโรคอื่น ๆ ที่ทำให้สมองเสื่อมคล้ายอัลไซเมอร์อีก 5-6 โรค  
 

การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม

เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ การวินิจฉัยจึงต้องทำอย่างละเอียดเพื่อแพทย์จะได้ทราบสาเหตุที่แท้จริงและวางแผนการรักษาและดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
 

“แม้ปัญหาเรื่องความจำจะเป็นลักษณะเด่นของภาวะสมองเสื่อมในระยะแรกเริ่ม แต่การจะตัดสินว่าผู้ป่วยเข้ข่ายว่าสมองเสื่อมหรือไม่นั้น แพทย์จะประเมินปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย” นพ. เขษม์ชัยอธิบาย “เป็นต้นว่า ผู้ป่วยมีอาการมานานเท่าไร อย่างน้อย 6 เดือนแล้วหรือยัง และอาการของผู้ป่วยกลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องมีปัญหาอย่างอื่นที่แสดงถึงการทำงานของสมองที่ลดลงด้วย อาจจะเป็นเรื่องการใช้ภาษา หรือทักษะบางอย่างที่เสื่อมลง”


ในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม แพทย์จะซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยแพทย์อาจซักถามจากญาติหรือผู้ดูแล เนื่องจากในระยะแรก ๆ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่ามีความเปลี่ยนแปลงบางประการเกิดขึ้น แพทย์จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจ ทำ MRI สมอง ประกอบกับการประเมินการทำงานของสมองเพื่อยืนยันถึงภาวะสมองเสื่อม 

“สาเหตุที่ต้องตรวจให้ละเอียดก็เพื่อทำการแยกโรคว่าภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นนั้นรักษาได้หรือไม่ และต้องรักษาอย่างไรเพื่อไม่ให้มองข้ามบางสาเหตุที่รักษาได้ ยกตัวอย่างเช่น ญาติพาผู้ป่วยมาพบ บอกว่าเป็นอัลไซเมอร์ แต่พอสอบถามปรากฏว่าสองสามวันก่อนยังปกติดีอยู่ แต่วันนี้จำใครไม่ได้เลย แบบนี้ไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์แน่นอน แต่อาจเป็นภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งการรักษาก็ต้องไปเน้นรักษา ทั้งสมองเสื่อมและโรคหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เป็นต้น” นพ. เขษม์ชัยกล่าวเสริม 
 

เมื่อแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อม สิ่งที่แพทย์จะต้องทำต่อคือการระบุให้ได้ว่าเกิดจากโรคใด เพื่อเลือกยารักษาอย่างเหมาะสมต่อไป 
 

อัลไซเมอร์ สาเหตุใหญ่ของภาวะสมองเสื่อม

สาเหตุสำคัญของภาวะสมองเสื่อมชนิดที่ไม่สามารถรักษาได้ในผู้สูงอายุ เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 60-80 โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคจะปรากฏหลังอายุ 60-65 ปีไปแล้ว เว้นแต่ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พบได้ไม่บ่อยนัก  
 

นพ. เขษม์ชัยอธิบายถึงสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ว่า “เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้าอะไมลอยด์ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งไปจับกับเซลล์สมอง เป็นผลทำให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลงจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองเริ่มจากในส่วนของความจำ การเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม”    

โรคอัลไซเมอร์แบ่งอย่างกว้าง ๆ ได้เป็นสามระยะ คือ ระยะแรก ระยะกลาง และระยะท้าย  
 
  • ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตนเองรู้สึกได้ และอาจเริ่มเครียด อารมณ์เสียง่าย และซึมเศร้า ระยะนี้คนรอบข้างต้องทำความเข้าใจให้มากเมื่อสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลง “ญาติส่วนใหญ่มักสงสัยว่า ผู้ดูแลควรทำอย่างไร เมื่อผู้ป่วยลืม พูดหรือคิดอะไรไม่ถูกต้อง ควรถามย้ำหรือแก้ไขเพื่อช่วยผู้ป่วยหรือไม่ อาจจะลองแก้ดูสักครั้ง หากไม่สำเร็จก็อย่าไปคาดคั้นหรือกดดันให้เกิดความเครียด และซึมเศร้า” นพ. เขษม์ชัยกล่าว 
  •  ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก จำชื่อตนเอง หรือคนในครอบครัวไม่ได้ พฤติกรรมอาจเปลี่ยนไปมาก บางรายก้าวร้าวทำร้ายผู้ดูแล นพ. เขษม์ชัยเสริมว่า “ผู้ป่วยระยะนี้ต้องอาศัย การดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษเพราะเริ่มไม่ค่อยรู้เรื่อง สิ่งที่ต้องใส่ใจให้มากในช่วงนี้คือเรื่องความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย เช่น ระวังผู้ป่วยเดินออกนอกบ้านเอง รวมทั้งเรื่องของมีคม เตาไฟ แก๊ส” 
  • ระยะท้าย ผู้ป่วยอาการแย่ลง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย “ผู้ป่วยระยะท้ายนี้สุขภาพแย่ลงมาก” นพ. เขษม์ชัยอธิบาย “ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้างไม่พูด ร่างกายแย่ลง รับประทานอาหารได้น้อยลง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย และเสียชีวิตในที่สุด”  
การรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทำได้โดยการรักษาแบบประคับประคอง เนื่องจากโรคนั้นเกิดจากความเสื่อมของสมองซึ่งมักหยุดการดำเนินโรคไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นพ. เขษม์ชัยเน้นว่า “การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นก็จะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินโรคได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการรักษา และยังเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
 

ปัจจุบันมีการวิจัยมากมายที่จะผลิตยารักษาให้อัลไซเมอร์หายขาด ซึ่งเชื่อว่า อาจจะมียาออกมาภายใน 5-10 ปี ข้างหน้า“   
 

สำคัญที่การดูแล

ผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยจะต้องเสียสละ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมากพอสมควร ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ
 

“ผมอยากฝากไว้ว่า ขอให้ทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้ดี อาจจะโดยการหาความรู้เพิ่มเติม หรือซักถามจากแพทย์ คุณจะได้ทราบว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมต้องอาศัยความอดทนสูง ประกอบกับความอ่อนโยน ความรัก และความเอาใจใส่ ขอให้ระลึกเสมอว่าอาการ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ นั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ป่วย นอกจากนี้ ควรมีผู้ดูแลอย่างน้อยสองคน สลับสับเปลี่ยนกันดูแล เพื่อให้อีกคนได้ผ่อนคลาย และมีเวลาพักผ่อนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายครับ”  นพ. เขษม์ชัยกล่าวในตอนท้าย
 

ดูแลสมองของคุณวันนี้

แม้ภาวะสมองเสื่อมบางชนิดไม่อาจป้องกันได้แต่การดูแลที่ดีอาจช่วยให้สุขภาพสมองของคุณดีกว่า ในระยะยาว 
 

  • ควบคุมน้ำหนัก เพราะความอ้วนสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม
  • เลือกรับประทานอาหารเพื่อบำรุงสมอง อาทิ กรดโอเมก้า 3 ในรูปดีเอชเอที่ช่วยปกป้องกรดไขมันที่หุ้มเซลล์ประสาท
  • นอนหลับให้มากพอในแต่ละวัน
  • มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ
  • ลองฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำอะไรที่ขัดกับชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหารด้วยมือซ้าย 
  • ออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย อ. ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพจากสหรัฐอเมริกา จากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์

คุณทราบหรือไม่?
ผู้สูงอายุบางรายมีอาการเสื่อมถอยด้านความจำ เพ้อ สับสน และประสาทหลอน คล้ายกับภาวะสมอง เสื่อมทุกประการ แต่แท้จริงแล้วเป็นผลมาจากภาวะซึมเศร้า ซึ่งประเมินได้จากการทดสอบทางประสาทจิตเวช และสามารถรักษาได้ผลดี

10 อาการอัลไซเมอร์ที่ต้องสังเกต

  1. หลงลืมบ่อย ๆ จนน่าเป็นห่วง    
  2. นึกถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้วไม่ออก    
  3. นึกคำพูดไม่ออก และใช้คำอื่นแทนทำให้ฟังไม่เข้าใจ    
  4. หลงทางกลับบ้านไม่ถูก    
  5. แต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ หรือปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่สนใจทำความสะอาด    
  6. บวกลบเลขง่าย ๆ ไม่ได้หรือจำตัวเลขไม่ได้    
  7. เก็บข้าวของผิดที่ผิดทางอย่าง ไม่เหมาะสม เช่น เอารองเท้าเก็บในตู้เย็น    
  8. อารมณ์แปรปรวนอย่างไม่มีเหตุผล    
  9. บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว    
  10. เฉื่อยชา ขาดชีวิตชีวา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 17 มีนาคม 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs