bih.button.backtotop.text

โรคสายตาขี้เกียจ

โรคสายตาขี้เกียจ (amblyopia or lazy eye) พบได้ประมาณ 3-5% เป็นภาวะที่เกิดจากการที่มีปัจจัยที่ทำให้ตาข้างนั้นๆ มองเห็นภาพไม่ชัดในช่วงอายุ 7 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพัฒนาการของการมองเห็นสูงสุด (visual development) ส่งผลให้การรับภาพโดยสมองจากตาข้างดังกล่าวลดน้อยลง ทำให้ตาข้างดังกล่าวมีระดับการมองเห็นลดลง ทั้งนี้การสูญเสียการมองเห็นอาจเป็นเพียงเล็กน้อยถึงมากได้ และอาจเป็นได้อย่างถาวรหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ หรือก่อนอายุ 7 ปี

สาเหตุที่พบบ่อย
  • โรคตาเข
  • สายตาสั้น ยาว เอียงที่มากเกินไป หรือไม่เท่ากันระหว่างตา 2 ข้าง
  • โรคตาที่ทำให้เกิดการบดบังของการมองเห็น เช่น โรคต้อกระจก หนังตาตก
  • โรคของจอประสาทตาและประสาทตา 
โรคตาที่พบบ่อยในเด็กที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แนะนำให้ตรวจคัดกรองเพื่อการรักษาในระยะเริ่มต้น
 
เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กทารก เด็กก่อนวัยเรียน (3-5 ปี) เด็กวัยเรียน (มากกว่า 6 ปี)
  • โรคสายตาขี้เกียจ
  • โรคตาเข
  • ภาวะสายตาที่มากและไม่เท่ากัน
ระยะเวลาที่ต้องพาเด็กมาพบจักษุแพทย์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
  • กลุ่มที่ 1 เด็กที่มีความผิดปกติ เช่น
    • เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและกุมารแพทย์แนะนำให้ตรวจตา
    • เด็กที่มีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการ
    • เด็กที่มีโรคประจำตัวอื่นที่แพทย์เห็นว่าอาจสัมพันธ์กับโรคตา
    • เด็กที่มีความผิดปกติของตาที่สังเกตได้ เช่น ดูเหมือนมองไม่เห็น หนังตาตก ตาเหล่ ตาสั่น น้ำตาไหล ตาแดง มีจุดขาวกลางตาดำ
    • เด็กที่มีสมาชิกครอบครัวที่มีความผิดปกติทางตาที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น โรคมะเร็งของจอประสาทตา (retinoblastoma) โรคจอประสาทตาเสื่อม และโรคต้อกระจก
**ผู้ป่วยกลุ่มนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกมาพบจักษุแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติเพื่อที่เด็กจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากในบางโรคการวินิจฉัยและการรักษาที่ช้าเกินไปอาจส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาวได้
 
  • กลุ่มที่ 2 เด็กที่ทั่วไปปกติ ถ้าคุณพ่อคุณแม่แน่ใจว่าลูกมีตาดูปกติทุกอย่างก็ยังควรพามาพบจักษุแพทย์เป็นระยะๆ ดังนี้
    • ครั้งแรก ที่อายุ 3-6 เดือน โดยปกติในระยะนี้กุมารแพทย์จะดูการตอบสนองโดยทั่วไป แต่คุณพ่อคุณแม่อาจพาทารกมาพบจักษุแพทย์ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าลูกปกติหรือไม่ เนื่องจากในระยะนี้จักษุแพทย์จะสามารถบอกได้ว่าเด็กมีการตอบสนองต่อการมองเห็นที่ปกติหรือไม่ เช่น มีการกลอกตาผิดปกติหรือไม่ มีตาเหล่หรือไม่ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในวัยนี้ หากตรวจพบและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าที่พบในภายหลัง
    • ครั้งที่ 2 ที่อายุประมาณ 3 ปี เป็นข้อแนะนำสำหรับเด็กทุกคนในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นระยะแรกที่จะสามารถวัดระดับมาตรฐานของการมองเห็นได้ และการที่เด็กดูเหมือนเห็นปกตินั้น เราไม่สามารถบอกได้เสมอไปว่ามีโรคสายตาขี้เกียจแอบแฝงอยู่ด้วยหรือไม่ โรคตาที่พบได้บ่อยและให้ผลการรักษาได้ดีมากในวัยนี้คือ โรคสายตาขี้เกียจและโรคตาเหล่
    • ครั้งที่ 3 ที่อายุประมาณ 5 ถึง 6 ปี เนื่องจากเด็กเริ่มใช้สายตาเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็นธรรมชาติที่เด็กช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปเป็นสายตาสั้นและเอียง จึงควรมาวัดสายตาว่าจำเป็นต้องใส่แว่นหรือไม่ รวมทั้งหากพบโรคสายตาขี้เกียจในระยะนี้การรักษายังได้ผลดี
    • ครั้งต่อๆ ไป ประมาณทุก 1-2 ปีไปจนถึงอายุ 18 ปี หรือขึ้นอยู่กับอาการและความผิดปกติที่ตรวจพบในครั้งแรกๆ
  • ภาวะสายตาสั้น ยาว และเอียง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในวัย 6-18 ปี และมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทุกปีเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ร่างกายที่เติบโตขึ้น กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และการใช้งาน
  • การแก้ไขภาวะสายตาสั้น ยาว และเอียงด้วยแว่นตานั้น ส่วนใหญ่แล้วเพื่อช่วยให้เด็กมีระดับการมองเห็นที่ดีขึ้น แต่อาจมีความจำเป็นมากในกรณีที่เด็กมีภาวะสายตาขี้เกียจแล้ว หรือเพื่อป้องกันภาวะสายตาขี้เกียจที่อาจจะเกิดขึ้นได้
  • การมองเห็นที่ดีสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ การไม่แก้ไขอาจส่งผลให้มีอาการทางร่างกายอื่นๆ เช่น ปวดตา ปวดศีรษะ และเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นได้เช่นกัน
การดูแลเรื่องตาเด็กเบื้องต้นง่ายๆ เท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคร้ายทางตาที่อาจเกิดได้กับลูกหลานของท่าน

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

คลินิกสายตาสั้น

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.83 of 10, จากจำนวนคนโหวต 141 คน

Related Health Blogs