ถึงแม้โลกยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัลจะทำให้เรามีความสะดวกสบาย สามารถสื่อสาร เรียนหรือทำงานร่วมกันได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีที่มากขึ้นก็มีผลเสียเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือหรือแท็บเล็ตทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ไม่ว่าจะเพื่อการเรียนรู้หรือเพื่อความเพลิดเพลิน การใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ทำให้เด็กทั่วโลกมีปัญหาสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่เด็กใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากขึ้นเพื่อเรียนรู้ทางออนไลน์ ส่งผลให้เกิด
ปัญหาทางด้านสายตา โดยเฉพาะสายตาสั้นก่อนวัย
ผลงานวิจัยพบว่า การใช้อุปกรณ์ดิจิตอลที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กมีภาวะสายตาสั้นมากขึ้น ภายใน เวลาเพียง 4 ทศวรรษ เด็กอเมริกันที่มีภาวะสายตาสั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 42% ผลงานวิจัยในเด็กที่อาศัยในแคลิฟอร์เนียใต้ จำนวน 60,800 คน ในปี 2018 พบว่าวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 17-19 ปี จำนวน 59% มีภาวะสายตาสั้น นอกจากนี้ยังคาดว่าในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า ทั่วโลกจะมีประชากรที่สายตาสั้นถึง 52%
นอกจากนี้ในโซนเอเชีย ยังพบว่าเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นมีจำนวนมากกว่าโซนอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนและประเทศฮ่องกง จะมีประชากรที่สายตาสั้นตั้งแต่เด็กถึง 80% เท่ากับว่าเด็ก 8 ใน 10 คนมีสายตาสั้น
ยังพบว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยังมีความเชื่อมโยงกับการเกิดสายตาสั้นในเด็ก ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้ (The Journal of the American Medical Association Ophthalmology) พบว่า การกักตัวที่บ้านในช่วงระบาดของโควิด-19 มีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะสายตาสั้นของเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-8 ขวบ นักวิจัยของประเทศจีนได้เปรียบเทียบการตรวจสายตาของเด็กอายุ 6 -13 ปีจำนวน 123,535 คน ระหว่างปี 2015-2020 พบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของการล็อกดาวน์ เด็กมีภาวะสายตาสั้นในอัตราที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยมีเด็กที่ต้องใช้เลนส์แก้ไขภาวะสายตา (corrective lens) สูงมากขึ้นถึง 1.4 ถึง 3 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับห้าปีที่ผ่านมาก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19