bih.button.backtotop.text

ภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด (Avascular Necrosis of Femoral Head)

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยอายุระหว่าง 30-50 ปี มีหลายปัจจัยที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการรบกวนหรือขัดขวางเลือดที่ไปเลี้ยงหัวกระดูกต้นขา แต่จนปัจจุบันยังยากที่จะสรุปสาเหตุและพยาธิสภาพของภาวะนี้ได้ชัดเจน เมื่อภาวะนี้ดำเนินต่อไปผู้ป่วยจะประสบปัญหาหัวกระดูกข้อสะโพกยุบ จนกระทั่งเกิดภาวะข้อสะโพกถูกทำลายและเสื่อมลงในท้ายที่สุด

สาเหตุและความเสี่ยงต่อภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด
  • เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบแน่ชัด
  • ตามหลังอุบัติเหตุ ข้อสะโพกหลุด หรือกระดูกสะโพกหรือเชิงกรานหัก
  • ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ
  • โรคเลือดหรือโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเองบางชนิด
  • การสูบบุหรี่
  • ในระยะแรก ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการ เมื่อเป็นได้สักระยะหนึ่งผู้ป่วยจะมีอาการที่ชัดเจนคือ อาการปวดบริเวณข้อสะโพกลึกๆ ตรงขาหนีบโดยอาการปวดอาจไปที่ก้นหรือเข่าข้างเดียวกันได้เช่นกัน เมื่อตรวจร่างกายจะพบอาการเจ็บเวลาเคลื่อนไหวของข้อสะโพก ความสามารถในการทำงานของข้อสะโพกลดลงหรือถูกจำกัด โดยเฉพาะในท่าหมุนสะโพกเข้าด้านใน
  • ประวัติและตรวจร่างกาย
  • ภาพถ่ายเอกซเรย์แบบมาตรฐานของสะโพกเปรียบเทียบกันทั้งสองข้าง เนื่องจากกว่า 20% ของผู้ป่วยที่พบภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด จะเป็นทั้งสองข้างร่วมกัน
  • การตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI) มีความไวและความจำเพาะสูงมากถึง 99 % ในการให้การวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรค

นอกเหนือจากอาการของผู้ป่วยแล้ว ข้อมูลที่ได้จากการตรวจเอกซเรย์แบบมาตรฐานและเครื่องสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI) จะช่วยแบ่งภาวะความรุนแรงจากน้อยไปมาก รวมไปถึงการพยากรณ์โรค เช่น ในระยะเป็นน้อยจะมีการเปลี่ยนแปลงของไขกระดูกและความดันในหัวกระดูกสะโพก จนกระทั่งหัวกระดูกสะโพกยุบ แบน ผิดรูปเมื่อเป็นมากขึ้นจนกระทั่งข้อสะโพกเสื่อมทั้งหมด ทางเลือกในการรักษาจึงเป็นไปตามระดับความรุนแรงดังกล่าวข้างต้น

  • การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด (non-surgical treatment) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นน้อยหรือระยะแรกๆ ที่หัวกระดูกสะโพกยังไม่ยุบหรือยังไม่มีภาวะข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ไม่ได้ทำให้ภาวะความผิดปกติหายไปได้ 100%
    • ให้ผู้ป่วยเดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน
    • การทำกายภาพบำบัด
    • รับประทานยาแก้ปวด หรือยากลุ่มอื่นๆ ที่มีรายงานการวิจัยสนับสนุนยังไม่มากนักได้แก่ กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดไขมัน ยาขยายหลอดเลือด ยาต้านการทำลายของกระดูก หรือกลุ่มฮอร์โมนบางชนิด
  • การรักษาโดยการผ่าตัด (Surgical treatment)
    • การผ่าตัดเจาะหัวกระดูกสะโพก (Core decompression) เพื่อลดแรงดันในหัวกระดูกสะโพก ลดอาการปวดและกระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่ทดแทน
    • ผ่าตัดเสริมกระดูกเข้าไปในหัวกระดูก (Bone grafting) เพื่อหวังผลให้ทําหน้าที่ค้ำยัน ใต้หัวกระดูกสะโพกไว้ไม่ให้ทรุดลง
    • ผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy) การย้ายส่วนหัวกระดูกที่ตาย ออกไปจากแนวการรับน้ำหนักของข้อสะโพก การผ่าตัดดังกล่าวเหมาะกับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคไม่มาก หัวสะโพกยังพอคงรูปอยู่ ผลสำเร็จอยู่ที่ 40-70 % จากงานวิจัย
    • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดทั้งหมด (Total Hip Arthroplasty) หากอาการปวดไม่ดีขึ้นด้วยวิธีไม่ผ่าตัดหรือเป็นมาก เกิดหัวสะโพกยุบ ข้อสะโพกเสื่อมซึ่งไม่สามารถกลับคืนได้นั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมชนิดทั้งหมดนั้นจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม อีกทั้งมีรายงานผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจสูงกว่าการผ่าตัดชนิดไม่เปลี่ยนข้อเทียมมาก ทำให้ผู้ป่วยหายปวดและกลับมาใช้ข้อสะโพกข้างนั้นได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณา วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 14 คน

Related Health Blogs