bih.button.backtotop.text

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD) เป็นกลุ่มของโรคปอดอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก

ลักษณะสำคัญของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
คือ หลอดลม เนื้อปอด และหลอดเลือดปอดเกิดการอักเสบเสียหายเนื่องจากได้รับแก๊สหรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดลมค่อยๆ ตีบแคบลงหรือถูกอุดกั้นโดยไม่อาจฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้อีก

โรคหลักๆ ในกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพอง (emphysema) และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) ซึ่งเป็นสองโรคที่มักพบร่วมกันเสมอ นอกจากนี้ยังมีโรคหืดหรือที่เรียกกันว่า โรคหอบหืด (asthma) และโรคหลอดลมพอง (bronchiectasis) ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

สาเหตุสำคัญของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดเนื่องจากในควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารและแก๊สเหล่านี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลมและถุงลมจนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง และทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพในที่สุด ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับควันบุหรี่แม้จะไม่ได้สูบก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
  • มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ควันพิษ รวมถึงการหายใจเอาสารเคมีบางอย่างเข้าไปในปอดติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นกรณีที่มักเกิดกับผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีละอองสารเคมี เช่น เหมืองถ่านหิน งานเชื่อมโลหะ รวมถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการประกอบอาหารและขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆ
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคพร่องสาร alpha-1-antitrypsin (AAT) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ผลิตในตับแล้วหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้ปอดถูกทำลายจากสารต่างๆ โรคนี้จึงสามารถเกิดได้ทั้งกับคนวัยหนุ่มสาว สำหรับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ การขาด AAT จะเร่งให้เกิดภาวะถุงลมโป่งพองเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนักและมักพบในชาวยุโรปหรือชนชาติผิวขาวอื่นๆ
  • สำหรับปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้แก่ การสูบบุหรี่ทั้งที่เป็นโรคหืด และอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พัฒนาอย่างช้าๆ ดังนั้นกว่าที่จะตรวจพบโรค ผู้ป่วยก็มักเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว

ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการปรากฎ จนกระทั่งปอดถูกทำลายมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมากโดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน รู้สึกเหนื่อยหอบ หมดเรี่ยวแรง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อยๆ บางรายอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วง

เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบมากจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ น้ำหนักลดลงอย่างมาก ในระยะท้ายของโรคมักพบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ภาวะหายใจวาย (respiratory failure) และหัวใจด้านขวาล้มเหลว

แพทย์วินิจฉัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้โดยการซักประวัติครอบครัว รูปแบบการใช้ชีวิต สอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ได้แก่

  • การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี spirometry ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด รวมถึงประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด โดยแพทย์จะให้ยาขยายหลอดลมแล้วให้ผู้ป่วยหายใจเข้าเต็มที่แล้วเป่าลมหายใจออกให้เร็วและแรงผ่านเครื่อง spirometer เพื่อวัดค่าปริมาณอากาศที่ผู้ป่วยสามารถหายใจออกใน 1 วินาที เทียบกับค่าปริมาณของอากาศเมื่อหายใจออกทั้งหมด เมื่อนำผลมาพิจารณาประกอบกับอาการของผู้ป่วยก็จะสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของโรคได้
  • การตรวจภาพรังสีทรวงอก หรือเอกซเรย์ปอด เพื่อแยกโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) อาจตรวจในผู้ป่วยบางรายเพื่อดูการกระจายตัวของโรคถุงลมโป่งพองประกอบการพิจารณาผ่าตัดรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
  • การตรวจวิเคราะห์แก๊สในเลือดแดง (arterial blood gas) เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตรวจวัดการทำงานของปอด โดยดูจากระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
  • การตรวจอื่นๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์สาเหตุของอาการบางอย่าง หรือตัดภาวะการเจ็บป่วยอื่นๆ ทิ้ง เช่น การตรวจคัดกรองภาวะพร่องสาร alpha-1-antitrypsin (AAT) ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยหรือมีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และการตรวจเสมหะเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ

แม้ว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการดำเนินโรค บรรเทาอาการของโรค ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนรวมถึงอาการกำเริบเฉียบพลันได้ โดยวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้นได้มีดังนี้

  • เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับแรกของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การเลิกบุหรี่จะช่วยไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงและทำให้หายใจได้ดีขึ้น หากผู้ป่วยไม่สามารถเลิกบุหรี่อย่างถาวรได้ด้วยตัวเอง อาจขอรับบริการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัดได้ ณ ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  • หลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ และการอยู่ในสถานที่ที่มีละอองสารเคมี หากจำเป็นควรสวมอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองและสารเคมี
  • การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ ลดการกำเริบ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ซึ่งการเลือกใช้ยาจะเป็นไปตามอาการและระดับความรุนแรงของโรค สำหรับกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่
    • ยาขยายหลอดลม มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการไอ หายใจติดขัด ผู้ป่วยจึงหายใจได้สะดวกขึ้น ยาขยายหลอดแบ่งออกเป็นชนิดออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว และมีทั้งแบบสูดพ่นและแบบรับประทาน  
    • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด ใช้ร่วมกับยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อลดการกำเริบของโรคซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป
    • ยาปฏิชีวนะ ให้ในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือการกำเริบเฉียบพลัน
  • การรักษาอื่นๆ เช่น การบำบัดด้วยออกซิเจนระยะยาว การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วยรุนแรง การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยกายภาพบำบัด การดูแลภาวะโภชนาการ และการดูแลสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย
  • การผ่าตัด ในกรณีที่การรักษาด้วยยาและวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอาถุงลมขนาดใหญ่ที่กดเนื้อปอดข้างเคียงออก ผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรปอด เพื่อใส่อุปกรณ์ในหลอดลม หรือเพื่อปลูกถ่ายปอดหากมีผู้บริจาคอวัยวะ
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่ ป้องกันตัวเองจากมลพิษในอากาศและละอองสารเคมี และการตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
แก้ไขล่าสุด: 13 มกราคม 2564

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ

ดูเพิ่มเติม

แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.56 of 10, จากจำนวนคนโหวต 36 คน

Related Health Blogs