bih.button.backtotop.text

โรคงูสวัดในผู้สูงอายุ

งูสวัด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคงูสวัดรวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากโรคงูสวัดได้มากขึ้น

โรคงูสวัดคืออะไร
โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัส varicella zoster virus (VZR) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อจะค่อยๆ เคลื่อนตัวตามแนวเส้นประสาทเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น เชื้อไวรัสก็สามารถกำเริบและก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นมาได้
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ในบางรายแม้เพียงการสัมผัสเบาๆ หรือการสัมผัสของเสื้อผ้าก็อาจทำให้เกิดอาการปวดได้ หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นและกลายเป็นตุ่มนูนคล้ายตุ่มอีสุกอีใส ต่างกันตรงที่ผื่นหรือตุ่มของโรคงูสวัดจะไม่กระจายทั่วตัว แต่จะเรียงเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวยาวตามแนวของเส้นประสาท ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส และแตกออกจนตกสะเก็ดในที่สุด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (postherpetic neuralgia) ซึ่งพบได้มากขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยระยะเวลาในการปวดจะขึ้นกับแต่ละบุคคล บางรายอาจปวดเป็นเดือน บางรายอาจปวดเป็นปี หรือบางรายอาจปวดตลอดชีวิตก็ได้ สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดการอักเสบ ตาอักเสบ เป็นต้น
การรักษาโรคงูสวัดทำได้โดยการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด การอักเสบ และจำนวนตุ่มน้ำที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้อาจให้ยารักษาตามอาการและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ยาบรรเทาอาการปวด ยาบรรเทาอาการคัน ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
ในปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุแล้ว แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยฉีดเพียง 1 เข็ม วัคซีนจะสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคงูสวัดและช่วยลดความรุนแรงของอาการงูสวัดได้หากเป็นโรค อย่างไรก็ดีในกรณีของผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง อาจเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนอายุ 60 ปีหรือตามคำแนะนำของแพทย์
แก้ไขล่าสุด: 16 กันยายน 2563

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์วัคซีน

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.62 of 10, จากจำนวนคนโหวต 42 คน

Related Health Blogs