bih.button.backtotop.text

โรคงูสวัด กันไว้ดีกว่าแก้ แค่ฉีดวัคซีน!

โรคงูสวัดคืออะไร?
โรคงูสวัด (Herpes zoster หรือ shingles) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส varicella zoster ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะยังคงฝังตัวอยู่บริเวณปมประสาท เมื่อร่างกายเริ่มอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำลง อาจส่งผลกระตุ้นให้เชื้อไวรัส varicella zoster ออกมาจากบริเวณปมประสาท และก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้

 
อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดมีอะไรบ้าง?
อาการหลักของโรคงูสวัด คือ ปวด แสบร้อนบริเวณผิวหนัง ร่วมกับมีกลุ่มของผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกระจุก นอกจากนี้ อาจพบอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น หรือไม่สบายท้อง ร่วมด้วย ส่วนอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของโรคงูสวัด คือ อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN) จะพบอาการปวดมากในบริเวณที่เป็นผื่นจากโรคงูสวัด โดยอาการปวดนี้จะยังคงอยู่แม้ว่าผื่นจะหายไปแล้ว ทั้งนี้อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดอยู่นานเป็นปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

 
ท่านสามารถติดโรคงูสวัดจากผู้อื่นได้หรือไม่?
โรคงูสวัดเป็นโรคติดต่อทางการสัมผัส เนื่องจากในแผลที่มีตุ่มน้ำใสนั้น ยังสามารถพบเชื้อไวรัส varicella zoster จึงสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ โรคนี้สามารถเกิดในทุกช่วงวัย แต่บางรายอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้อื่น เช่น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 
เราสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้อย่างไร?
วิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันตนเองจากโรคงูสวัด คือ การปฏิบัติตัวให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมี วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคงูสวัด โดยท่านสามารถเข้ารับคำปรึกษาและรับวัคซีนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลได้

 
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดคืออะไร?
ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 2 ชนิด ได้แก่
  1. Zoster vaccine live (ZVL) วัคซีนนี้ฉีดได้ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 เข็ม (0.65 mL) จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้ร้อยละ 69.8 และป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อน คือ อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด ได้ร้อยละ 66.5 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ส่วนในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 51 และป้องกันการเกิดอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดได้ร้อยละ 39
  2. Recombinant zoster vaccine (RZV) วัคซีนนี้ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 2 เข็ม (เข็มละ 0.5 mL) สามารถฉีดได้ใน:
  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป: วัคซีนเข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มแรก 2-6 เดือน โดยวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดและอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดในคนกลุ่มนี้ได้มากกว่าร้อยละ 90
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องจากโรคหรือการรักษา: วัคซีนเข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน โดยวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดในคนกลุ่มนี้ได้ร้อยละ 68-91
หลังจากฉีดวัคซีนครบตามจำนวนที่แนะนำในแต่ละชนิดแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจึงจะขึ้นเต็มที่ และภูมิคุ้มกันอาจอยู่ได้นานถึง 10 ปี ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดเข็มกระตุ้นของวัคซีนงูสวัดทั้ง 2 ชนิด

 
ใครควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด?
ผู้ใหญ่ในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แม้ว่าจะไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องจากโรคหรือการรักษา ควรฉีดวัคซีนชนิด recombinant zoster vaccine จำนวน 2 เข็ม เนื่องจากอายุที่มากขึ้นและภูมิคุ้มกันที่บกพร่องจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัดด้วย

โดยท่านสามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลก่อนการรับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนนี้มีข้อจำกัดในบุคคลบางกลุ่ม เช่น
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง (ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิด Live-attenuated zoster vaccine)
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน
  • ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดอยู่ในปัจจุบัน
  • หญิงตั้งครรภ์
 
อาการข้างเคียงอะไรบ้างที่อาจพบได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด?
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด คือ อาการปวด แดง หรือบวมในบริเวณที่ฉีดวัคซีน ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตัวสั่น มีไข้ ปวดท้อง และคลื่นไส้

 
ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคงูสวัดมาก่อน ควรรอนานเท่าไหร่จึงจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้?
ในกรณีที่เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อน สามารถให้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้ โดยให้เว้นระยะห่างหลังจากเป็นโรคงูสวัดอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับวัคซีนชนิด recombinant zoster vaccine สามารถให้ได้ครบทั้ง 2 เข็มตามคำแนะนำ

 
หากเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิด live-attenuated zoster vaccine มาก่อน ควรรอนานเท่าไหร่จึงจะสามารถฉีดวัคซีนชนิด recombinant zoster vaccine ได้?
ในกรณีที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิด zoster vaccine live มาก่อน สามารถฉีด recombinant zoster vaccine ได้ โดยฉีด recombinant zoster vaccine 2 เข็ม และเว้นห่างจาก zoster vaccine live อย่างน้อย 2 เดือน

 
ดูแพ็กเกจวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด คลิก


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:



แก้ไขล่าสุด: 20 พฤษภาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs