bih.button.backtotop.text

ครรภ์ไข่ปลาอุก

ครรภ์ไข่ปลาอุก (molar pregnancy/hydatidiform mole) คือ ภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ โดยตัวอ่อนของทารกและรกไม่เจริญขึ้นมาตามปกติ เนื้อเยื่อของตัวอ่อนกลายเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงในมดลูกแทน โดยทั่วไปหากเซลล์ที่สร้างรกทำงานผิดปกติหลังจากที่ไข่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้วจะทำให้เกิดถุงน้ำ ซึ่งมีลักษณะคล้ายพวงองุ่นสีขาวหรือไข่ปลา เซลล์ดังกล่าวจะเจริญภายในมดลูกอย่างรวดเร็วแทนการเจริญเป็นทารกโดยมีชื่อเรียกว่าครรภ์ไข่ปลาอุก แม้ครรภ์ไข่ปลาอุกจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง แต่ถือเป็นภาวะก่อนเป็นมะเร็งของโรคมะเร็งไข่ปลาอุกหรือมะเร็งเนื้อรก (choriocarcinoma)

สาเหตุ
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าครรภ์ไข่ปลาอุกอาจสัมพันธ์กับปัจจัยภายในบางประการของผู้ป่วย เช่น กรณีที่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี มีประวัติแท้งเองมากกว่าสองครั้ง มีปัญหามีบุตรยาก รวมถึงผู้ป่วยเคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาก่อนจะมีโอกาสเกิดมากกว่าคนทั่วไปถึง 16 เท่า
อาการคล้ายอาการเริ่มตั้งครรภ์ทั่วไป เช่น ประจำเดือนขาด มีอาการแพ้ท้อง คัดตึงเต้านม ปัสสาวะบ่อย นอกจากนั้นอาจมีอาการเหมือนภาวะแท้ง หญิงตั้งครรภ์ส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าอาการครรภ์ไข่ปลาอุกที่เกิดขึ้นเป็นอาการแท้ง โดยหญิงที่มีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกจะเกิดอาการ ดังนี้
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้มากที่สุด
  • ขนาดของมดลูกโตเร็วกว่าอายุครรภ์และบวมน้ำมาก
  • แพ้ท้อง คลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง
  • อ่อนเพลีย เนื่องจากเลือดออกจากช่องคลอดมาก
  • ปรากฏอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ เช่น เหนื่อยมาก หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเหงื่อออกมากเกินไป
  • เกิดอาการครรภ์เป็นพิษ ทำให้ความดันโลหิตสูงและมีโปรตีนในปัสสาวะ
  • มีถุงน้ำรังไข่ (theca lutein ovarian cyst)
ปัจจุบันสามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้นตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์และได้รับการรักษาก่อนที่จะมีอาการและอาการแสดงที่เฉพาะเจาะจง
  • การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นวิธีการตรวจที่แม่นยำ ไม่เจ็บ และได้รับความนิยมมากที่สุด
  • ตรวจเลือดเพื่อหาระดับของฮอร์โมน human chorionic gonadotropin (hCG) อาจเป็นวิธีการวินิจฉัยได้ไม่ดีเท่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง แต่มีประโยชน์มากในการติดตามการรักษา
หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกจะตั้งครรภ์ต่อไปไม่ได้ ควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
  • ขูดมดลูก (suction curettage) เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เป็นทั้งการรักษาและวินิจฉัยจากการทำให้ได้ชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
  • ผ่าตัดมดลูก (hysterectomy) ข้อบ่งชี้คือพิจารณาทำในกลุ่ม ดังต่อไปนี้
  • หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
  • หญิงตั้งครรภ์นั้นมีเนื้องอกของครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นจำนวนมากและเสี่ยงเป็นมะเร็ง
  • หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้วในอนาคต
  • มีอาการตกเลือดรุนแรงจากมดลูกทะลุ เป็นต้น
  • การให้ยาเคมีบำบัดป้องกัน (prophylactic chemotherapy)
แก้ไขล่าสุด: 07 พฤษภาคม 2564

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์สูติ-นรีเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.86 of 10, จากจำนวนคนโหวต 14 คน

Related Health Blogs