bih.button.backtotop.text

โรคพิษสุนัขบ้า.....เป็นแล้วรอดยาก

โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นเชื้อไวรัสที่จู่โจมประสาทส่วนกลางทำให้เกิดโรคทางระบบประสาท และในหลายกรณีทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การติดเชื้อแพร่ผ่านทางน้ำลายเข้าสู่บาดแผล ปากหรือดวงตา มักเกิดจากการถูกสัตว์กัด ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ แต่มีสัตว์เพียงไม่กี่ประเภทที่เป็นพาหะของโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สุนัข แมว ค้างคาว สกั๊งค์และสุนัขป่า
 

จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร

ข่าวดีเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าคือ สามารถป้องกันได้ 100% หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันก่อนได้รับโรคพิษสุนัขบ้าโดยการฉีดวัคซีนหลายเข็มเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงจากการเล่นกับสัตว์และไม่ได้ตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อถูกสัตว์กัดและมักไม่แจ้งผู้ปกครองเมื่อถูกสัตว์ข่วน

ถึงแม้โรคพิษสุนัขบ้าจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (the Centers for Disease Control and Prevention ; CDC) รายงานว่าคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าถึง 55,000 รายต่อปี โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา  ถึงแม้โรคพิษสุนัขบ้าจะป้องกันได้ด้วยวิธีการทางการแพทย์แต่ทางที่ดีคือการเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์เลี้ยง
  • สังเกตอาการสัตว์เลี้ยงและระวังไม่ให้สัมผัสกับสัตว์ป่า
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าเมื่อต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง
  • รายงานการพบเห็นสัตว์จรจัดให้กับสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
  • อย่าเข้าหาหรือยั่วยุสัตว์จรจัด
 

ควรทำอย่างไรหากถูกสัตว์กัด

หากถูกสัตว์จรจัดกัด ให้ทำความสะอาดบาดแผลทันทีด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หลังจากนั้นให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด แพทย์ที่มีประสบการณ์จะบอกได้ว่าผู้ที่ถูกกัดจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือที่เรียกว่ายาป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ (post-exposure prophylaxis; PEP) หรือไม่ โดยวินิจฉัยจาก
  1. สัตว์ที่กัดมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่
  2. แผลมีความรุนแรงมากพอต่อการได้รับวัคซีน
  3. การรักษาจำเป็นต้องใช้อิมมูโนโกลบูลิน (ซึ่งหายากในบางครั้ง) ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ (ในกรณีส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาทั้งสองประเภทร่วมกันเพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค)
 

สัญญาณและอาการของโรคพิษสุนัขบ้ามีอย่างไรบ้าง

สัญญาณและอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในระยะเริ่มแรกมีความคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัดใหญ่ ซึ่งรวมถึงเป็นไข้ ปวดหัวและความรู้สึกไม่สบายตัวติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน และอาจรู้สึกแสบร้อนและคันบริเวณที่ถูกกัด อาการเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่ระยะที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกถึงการทำงานของสมองที่ผิดปกติ กระวนกระวาย สับสนและหงุดหงิด เมื่อความรุนแรงของโรคดำเนินต่อไป ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน มีพฤติกรรมที่แปลกไป ประสาทหลอนและนอนไม่หลับ หากผู้ป่วยปรากฎอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมากและแพทย์มักใช้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง จากประวัติทางการแพทย์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้รอดชีวิตหลังจากติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้วเพียง 10 รายเท่านั้น

ดังนั้น ควรเฝ้าสังเกตและระมัดระวังเพื่อป้องกันตัวคุณและคนที่คุณรักจากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งควรพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าหากต้องเดินทางไปยังประเทศบางประเทศในแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงต่อโรคพิษสุนัขบ้าคือ  พม่า กัมพูชาและอินโดนีเซีย (โดยเฉพาะบนเกาะบาหลี)

หากคุณถูกสัตว์กัดหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า กรุณาติดต่อที่ศูนย์การแพทย์สำหรับผู้เดินทาง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 08.00 ถึง 16.00 น. ศูนย์การแพทย์สำหรับผู้เดินทางตั้งอยู่ที่อาคารบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คลินิก (BIC) ชั้น 15

ศูนย์การแพทย์สำหรับผู้เดินทาง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบไปด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อทั่วไป โรคติดเชื้อจากเชื้อโรคในเขตร้อนและการดูแลรักษาสุขภาพระหว่างเดินทาง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา แนะนำก่อนและหลังการเดินทาง การป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง เช่น โรคมาเลเรียและโรคพิษสุนัขบ้า บริการวัคซีนป้องกันและออกหนังสือรับรองวัคซีนป้องกัน ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาความเจ็บป่วยต่างๆ อันเนื่องมาจากการเดินทาง

เรียบเรียงโดย ผศ.นพ. อัษฎา วิภากุล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 30 เมษายน 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs