สุขภาพตาและสายตาที่ดีมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก ตั้งแต่ความสามารถในการเรียนรู้และสุขภาพโดยรวม การตรวจสุขภาพตาเด็กอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถพบปัญหาและรักษาโรคตาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ทำไมการตรวจสุขภาพตาเด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
เด็กอาจไม่ตระหนักว่าตัวเองมีปัญหาทางด้านสายตา หากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้เด็กมีปัญหาทางสายตาเรื้อรังเป็นเดือนหรือเป็นปี ซึ่งมีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก โรคตาบางประเภท หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานจนสายตาหยุดพัฒนาแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขให้เป็นปกติได้เมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากรีบรักษาตั้งแต่สายตาเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่หรือเด็กมีอายุไม่เกิน 7-8 ขวบ โอกาสในหายขาดมีได้มากขึ้น
เมื่อใดที่ควรตรวจสุขภาพตาเด็ก
เด็กควรได้รับการตรวจสุขภาพตาตั้งแต่แรกเกิด ระหว่างเป็นเด็กทารก ในวัยก่อนเข้าเรียนและในวัยเรียน วิทยาลัยจักษุวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (
American Academy of Ophthalmology) ได้แนะนำให้เด็กตรวจสายตาเมื่อมีวัยดังต่อไปนี้
- ทารกวัยแรกเกิด แพทย์จะตรวจแสงสะท้อนจากจอประสาทตาทารกแรกเกิดเพื่อดูว่าผิดปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจตาภายนอก เช่น หนังตาเปิดปิดได้ตามปกติหรือไม่ หากเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือมีความเสี่ยงสูง มีสัญญาณของความผิดปกติ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคดวงตาที่ร้ายแรงตั้งแต่เด็ก แพทย์จะทำการตรวจดวงตาอย่างละเอียดทันที
- เด็กทารกอายุระหว่าง 6 เดือน – 1 ปี เป็นการตรวจสุขภาพตาและเป็นการตรวจโรคตาที่พบบ่อยในเด็กที่ต้องการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ตาเขเหล่ ท่อน้ำตาอุดตัน เป็นต้น
- เด็กวัยก่อนเข้าเรียนหรือมีอายุระหว่าง 3 ปี – 3 ½ ปี ควรตรวจวัดสายตาหากเด็กโตพอที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจวัดสายตา เพื่อดูว่าเด็กสายตาสั้น ยาวหรือเอียงหรือไม่ เด็กหลายคนมักมีภาวะสายตายาวแต่สามารถมองเห็นในระยะอื่นได้ โดยเด็กส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใส่แว่นหรือแก้ไขความผิดปกติทางสายตา นอกจากนี้ยังควรตรวจหาภาวะตาสองข้างไม่มองในทิศทางเดียวกัน เช่น ตาเข ตาเหล่ ตาขี้เกียจ
- เด็กวัยเรียน เมื่อเด็กเข้าเรียนหรือเมื่อผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กมีปัญหาทางสายตา ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตา ปัญหาทางสายตาที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้ คือ สายตาสั้นซึ่งแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นตา หากสงสัยว่าเด็กมีภาวะสายตาสองข้างไม่มองในทิศทางเดียวกันหรือปัญหาทางสายตาอื่นๆ ควรให้จักษุแพทย์ตรวจดวงตาอย่างละเอียด
การตรวจสายตาเด็กทำได้อย่างไรบ้าง
การตรวจสายตาเด็กทำได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
- การตรวจแสงสะท้อนแสงจากจอประสาท (Red Reflex Test) มักตรวจร่วมกับการตรวจสุขภาพตาทารกโดยทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจดวงตาเด็กแรกเกิด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscope) ส่องแสงสะท้อนออกมาจากจอประสาทตา หากดวงตาของเด็กสะท้อนให้เห็นแสงสีแดงแสดงว่าดวงตาปกติ แต่หากสะท้อนเป็นแสงสีขาว อาจเป็นสัญญาณถึงความผิดปกติของดวงตา
- การตรวจการตอบสนองของรูม่านตา (Pupil Reflex Test) เป็นการส่องแสงเข้าไปในดวงตาของเด็กทั้งสองข้างเพื่อตรวจสอบปฏิกริยาของรูม่านตาที่มีต่อแสง รูม่านตาของเด็กควรหดตัวลงได้เท่ากันทั้งสองข้างเมื่อโดนแสง
- ความสนใจในวัตถุที่มองเห็นได้ (Attention to visual objects) เป็นการทดสอบง่ายๆเพื่อตรวจดูว่าสายตาของเด็กแรกเกิดมองตามวัตถุที่เห็นหรือไม่ การทดสอบนี้ยังใช้ได้กับเด็กที่เล็กที่ยังพูดไม่ได้หรือพูดได้แล้วแต่ยังไม่สามารถจำตัวอักษรได้ บางครั้งจักษุแพทย์อาจใช้ภาพแทนวัตถุ
- แผ่นทดสอบสายตาสเนลเลน (Snellen chart) เมื่อเด็กจดจำตัวเลขและตัวอักษรได้แล้ว สามารถใช้แผ่นตัวอักษรหรือตัวเลขที่เขียนเรียงลำดับเป็นแถว โดยแถวบนสุดมีขนาดใหญ่สุด แถวต่อมาค่อยๆเล็กลงมาจนแถวสุดท้ายมีขนาดเล็กสุด สำหรับเด็กเล็ก จักษุแพทย์อาจใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์แทน
- การตรวจความเคลื่อนไหวของดวงตา (Range of movement tests) โดยใช้วัตถุที่น่าสนใจดึงดูดความสนใจของเด็กและเคลื่อนไหววัตถุไปทางด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย ด้านขวาและกึ่งกลางของแต่ละด้านเพื่อทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อตา
- การตรวจวัดระดับความชัดเจนของสายตา (Refraction test) เป็นการตรวจว่าเด็กมีภาวะสายตาสั้น สายตายาวหรือสายตาเอียงหรือไม่ การตรวจทำโดยให้เด็กมองไปยังแสงหรืออ่านตัวอักษรบนแผ่นป้ายขณะที่ผู้ตรวจเปลี่ยนเลนส์ไปจนกว่าจะพบระดับที่เด็กสามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุด
- การตรวจภาวะตาบอดสี (Color vision deficiency test) การตรวจภาวะตาบอดสีมักทำกับเด็กที่โตแล้ว หากสงสัยว่าเด็กมีภาวะตาบอดสี โดยทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งที่นิยมกันคือ การใช้แผ่นภาพอิชิฮะระ (Ishihara Test) โดยแต่ละแผ่นภาพมีจุดมีที่แตกต่างกัน 2 สี หากเด็กมองเห็นสีได้ตามปกติ จะสามารถเห็นตัวอักษรหรือรูปภาพที่อยู่ในจุดสีนั้นได้
โรคตาที่พบได้บ่อยในเด็ก
ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตาที่พบได้บ่อยในเด็กมีดังนี้คือ
นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เช่น
- โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity)
- โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma) มักพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
- โรคต้อกระจกในเด็ก (Infantile cataracts) พบได้ไม่บ่อยในเด็กทารกแรกเกิด
- โรคตาที่เกิดจากพันธุกรรม (Genetic or metabolic diseases of the eye) ทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนดและโรคต้อกระจกในเด็กได้มากกว่าเด็กปกติ เด็กกลุ่มนี้จึงควรตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เล็ก
สัญญาณบ่งบอกว่าดวงตาของเด็กมีปัญหา
ถึงแม้เด็กจะเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ แต่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการและหากพบความผิดปกติ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
- ตาไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน
- ตาไวต่อแสง
- ตาแดงเรื้อรัง
- มีน้ำตาไหลเรื้อรัง
- อาการปวดศีรษะหรืออาการเมื่อยล้าทางสายตา
- มีปัญหาการอ่าน เช่น อ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์ใกล้เกินไป
- มีปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตา
- มีอาการซุ่มซ่าม เช่น เดินชนสิ่งของ โต๊ะ เก้าอี้บ่อยๆ
- ขยี้ตาบ่อย
ปัญหาทางโรคตาของเด็กต้องอาศัยความเอาใจใส่และการสังเกตของคุณพ่อคุณแม่เพราะปัญหาทางสายตาบางอย่างอาจแสดงออกไม่ชัดเจนเหมือนโรคทางกายอื่นๆ ดังนั้นการพาเด็กไปตรวจสุขภาพตาตามที่แพทย์นัดหมายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่วางใจได้ว่าปัญหาทางสุขภาพตาของลูกรักได้รับการรักษาก่อนที่จะสายเกินไป
เรียบเรียงโดย ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565