“หากผู้ป่วยเชื่อมั่นในการรักษาและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด มีจิตใจที่ดี พักผ่อนอย่างเพียงพอ เกิดภาวะความสมดุลในร่างกาย ทำให้การรักษามะเร็งนั้นได้ผลที่ดีตามไปด้วย ผมได้ศึกษาผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่เกี่ยวโยงกับศาสนา ศาสนาอิสลามถือเป็นวิถีชีวิต เป็นการปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดมาในคัมภีร์” หนึ่งในแนวคิดที่นำความเชื่อมาผสมผสานกับการรักษา จาก
นายแพทย์สุรสิทธิ์ ซอและห์ อิสสระชัย (Dr.Surasit Saleh Issarachai) แพทย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
บทบาทที่สำคัญของนายแพทย์สุรสิทธิ์ ซอและห์ อิสสระชัย ในการเป็นแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยมะเร็ง ชนิด Solid Tumor หรือมะเร็งในอวัยวะต่างๆ เช่น
มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยเน้นที่การรักษาโดย
เคมีบำบัด “ผมได้มีโอกาสศึกษาและทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและมีความชื่นชอบศาสตร์ทางด้านโรคเลือดและมะเร็งมาก ซึ่งเมื่อผมมาทำงานที่บำรุงราษฎร์ ที่ใช้ระบบแบบ International Hospital มีการแยกแต่ละศาสตร์อย่างชัดเจน ก็จะมีหมอเฉพาะด้านดูแลในแต่ละแผนก ผมจึงได้มาอยู่ในส่วนของ Oncology นอกจากผู้ป่วยชาวไทยแล้วยังมีผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งในความดูแลของผมนั้นเป็นผู้ป่วยชาวอาหรับ” นายแพทย์สุรสิทธิ์เล่าถึงขอบเขตการทำงานที่รับผิดชอบ
“โรคเดียวกัน แต่ในผู้ป่วยต่างคนกัน อาจจะเรื่องของพันธุศาสตร์ เชื้อชาติ การได้รับยาแล้วผลการรักษาก็อาจจะแตกต่างกันด้วย ดังนั้นยาบางตัวอาจจะเป็นประโยชน์กับคนหนึ่ง แต่อีกคนอาจจะเป็นยาพิษก็ได้ ดังนั้นเราใช้
Individual Medicine ในแต่ละรายไป” การใช้หลักการรักษาเฉพาะบุคคลนี้ ต้องตรวจวินิจฉัย และหาทางรักษาที่เหมาะสมในแต่ละผู้ป่วย นับเป็นความใส่ใจของแพทย์ที่มีต่อผู้ป่วยเพื่อรักษาได้เฉพาะและเหมาะกับผู้ป่วยนั้น
“ผู้ป่วยที่เข้ามาพบหมอนั้น จะตรวจพบเจอมะเร็งตั้งแต่ระยะต้นๆ ถึงระยะท้าย แต่ส่วนมากมักจะเป็นเคสที่ผ่านการรักษามาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือใช้ยาทุกชนิดจนดื้อยาแล้ว บางเคสมาในขั้นต้องร้องขอการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือไม่สามารถรักษาเฉพาะเจาะจงกับตัวโรคได้แล้ว เราก็จะรักษาเขาอย่างเต็มที่ เราใช้จุดแข็งของเราคือการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น มีข้อมูลในการรักษาที่อัพเดทอยู่เสมอ และมียาชนิดใหม่ๆ เพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยในการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดนั้นได้”
“ความเชื่อ” การรักษาที่มากกว่าแค่ร่างกายและจิตวิญญาณ
“สำหรับผู้ป่วยที่มารักษากับผม ถ้าผมพอจะพูดคุยด้านศาสนาได้ ผมมักจะให้คำแนะนำว่า ให้กลับไปทบทวนตัวเองว่ามีอะไรที่ต้องทำให้ดีขึ้น และถ้ามีอะไรติดค้างก็ถือว่าเป็นเวลาของการสะสาง เพราะหากเป็นมะเร็งระยะที่ 4 แล้ว คนทั่วไปก็อาจมองว่าชีวิตเขาจบสิ้นแล้ว แต่ผมมักจะบอกว่า 1 วันที่เขาได้รับการรักษาให้ดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นกำไรของชีวิต ควรใช้เวลานี้สะสางเรื่องต่างๆ ดูแลครอบครัวและทำความดีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ” สิ่งหนึ่งที่นายแพทย์สุรสิทธิ์ยืดถือในการปฏิบัติงานตลอดมา “ผมมองว่าอิสลาม ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี เพียงแต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการ ให้รักษาไว้ซึ่งความเชื่อทางศาสนา รักษาชีวิต และรักษาความเป็นเชื้อสาย (Lineage) ซึ่งบางครั้งการรักษาบางทีอาจผิดหลักการเช่น ยาตัวนี้มีส่วนผสมจากหมู แต่ว่าถ้าต้องเลือกระหว่างปล่อยให้ตาย กับการรักษาด้วยยาที่มีส่วนผสมหมู ก็ต้องรักษาให้มีชีวิตที่อยู่ได้ยาวนาน”
Doctor-Patient Family Relationship ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญในกระบวนการรักษา “ความเชื่อใจในการรักษา เชื่อในตัวหมอ ถือว่าสำคัญมาก ถ้าผู้ป่วยเชื่อใจหมอ มั่นใจแล้ว ทุกอย่างที่เป็นการสื่อสาร เข้าใจต่อโรค ปัญหาจะไม่เกิด ในความเชื่อใจจึงมักต้องมีความรู้และจรรยาบรรณที่ดีกำกับ ซึ่งผมมักถามคนไข้ใหม่เสมอว่าพร้อมที่จะรักษาไปกับผมไหม หากไม่ชอบจากการพบเจอในครั้งแรกนั้น สามารถขอเปลี่ยนหมอได้ เพราะการสื่อสารการเชื่อใจที่ดี มักจะทำให้การรักษานั้นดีตามไปด้วย”
จุดมุ่งหมายในการรักษา คือการมีเวลาชีวิตให้ครอบครัว
“มีผู้ป่วยพม่าคนหนึ่ง อายุประมาณ 70 ปี เป็น
มะเร็งที่กระเพาะอาหาร เป็นมากขนาดกลืนไม่ได้เพราะมีการอุดตันของกระเพาะ และกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองและตับ เมื่อดูใน
PET Scan แล้วพบเซลล์มะเร็งที่ตับเต็มไปหมด เราจึงใช้การตรวจ Genetic Marker ก็พบการรักษาที่จะช่วยชีวิตเขาได้ เพราะเราสามารถใช้ยาที่เหมาะกับผู้ป่วย รวมถึงการใช้การรักษาแบบ Anti HER2 Antibody และ Anti HER2
Targeted Therapy และได้ปรับขนาดของเคมีบำบัดลง เพราะผู้ป่วยมีความบอบช้ำในการรักษาและมีอายุค่อนข้างมากแล้ว” นายแพทย์สุรสิทธิ์เล่าถึงจุดมุ่งหมายของแพทย์ในการรักษาไว้ว่า “เวลาผ่านไป 3-4 ปีแล้ว ผู้ป่วยท่านนี้ก็ยังคงมีชีวิตอยู่และเมื่อสแกนดูที่ตับ ก็ไม่พบเซลล์มะเร็งเลย เราจึงภูมิใจว่าเมื่อคนไข้ได้รับการรักษาที่ดี มียาที่ดี และเชื่อมั่นในแพทย์แล้ว ทำให้ผู้ป่วยนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ได้เวลา ได้ชีวิตกับครอบครัวที่ดีกลับคืนมาอีกด้วย”
มะเร็ง โรคร้ายที่มีความงามซ่อนอยู่
“เรื่องของการรักษาโรคเรื้อรัง รวมทั้งโรคมะเร็งนั้น ผมว่าเป็นเหมือนการทดสอบจากเบื้องบน ซึ่งมักจะมีสองด้านเสมอ เราอาจจะรู้สึกลำบาก ทรมานจากโรคร้ายนั้น จนบางครั้งอาจมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทางได้ แต่ถ้าหากเราตั้งสติและมองดีๆ ก็จะพบความงดงามที่แฝงอยู่เสมอ บางครอบครัวจากที่ลูกหลานห่างเหิน เมื่อคนในครอบครัวป่วย ก็จะพากันไปหาหมอ เกิดความสัมพันธ์ที่อาจไม่เคยเกิดขึ้นเลย แล้วจะเห็นน้ำใจซึ่งกันและกันในครอบครัวครับ” นายแพทย์สุรสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 กันยายน 2565