ภาวะก่อนเบาหวาน คืออะไร?
ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) คือ ภาวะสุขภาพที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงจนสามารถวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ทราบว่าตนมีภาวะก่อนเบาหวาน จึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น <>
สาเหตุของภาวะก่อนเบาหวานคืออะไร?
ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดถึงสาเหตุของภาวะก่อนเบาหวาน แต่ประวัติครอบครัวและกรรมพันธุ์ รวมถึงการขาดการออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกิน และไขมันสะสม อาจเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดภาวะก่อนเบาหวานได้ โดยเชื่อว่าผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานเกิดจากการจัดการกับน้ำตาลในร่างกายที่ผิดปกติไป
ปกติแล้วน้ำตาลที่อยู่ในเลือดมีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ เป็นแหล่งพลังงานของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ โดยแหล่งน้ำตาลส่วนมากมาจากการรับประทานอาหาร เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลจากอาหารเข้าสู่กระแสเลือด จะมีการหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งจากตับอ่อน ชื่อว่า อินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ในการดึงน้ำตาลจากเลือดไปให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายใช้งาน หากมีการทำงานที่ไม่สมดุลหรือผิดปกติไปก็อาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ภาวะก่อนเบาหวาน และอาจพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานต่อไปได้
อาการของภาวะก่อนเบาหวานมีอะไรบ้าง
ภาวะก่อนเบาหวานส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่เราสามารถพบอาการเหล่านี้ได้
- กระหายน้ำมากขึ้น
- ปัสสาวะบ่อย
- หิวบ่อย
- อ่อนเพลีย
- มองภาพไม่ชัด
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะก่อนเบาหวานมีอะไรบ้าง?
จากการที่ภาวะก่อนเบาหวานมักไม่แสดงอาการให้เห็น หากเรารู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของภาวะนี้ก่อนจะช่วยให้เราป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้ โดยปัจจัยเสี่ยงของภาวะก่อนเบาหวานนั้นเหมือนกับปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานนั่นเอง
- ภาวะน้ำหนักตัวเกิน
- ขาดการออกกำลังกาย
- อายุ 45 ปี ขึ้นไป
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวมากกว่า 4 กิโลกรัม
- มีกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic ovarian syndrome)
- สูบบุหรี่
- เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา
โดยส่วนมากภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาเกิดจากการที่ภาวะก่อนเบาหวานพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งโรคเบาหวานมักก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคหลอดเลือดและหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- เส้นประสาทถูกทำลาย
- การมองเห็นผิดปกติ
การวินิจฉัยภาวะก่อนเบาหวาน?
การวินิจฉัยภาวะก่อนเบาหวานมักทำการตรวจวัดจากระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด หรือ HbA1c ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ปกติ |
ภาวะก่อนเบาหวาน |
เบาหวาน |
< 5.7% |
> 5.7% และ < 6.5% |
> 6.5% |
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหรือพลาสมาหลังจากอดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting blood sugar หรือ Fasting plasma glucose)
ปกติ |
ภาวะก่อนเบาหวาน |
เบาหวาน |
<100 mg/dl |
>100 และ < 126 mg/dl |
> 123 mg/dl |
- การตรวจความทนต่อกลูโคส (Oral glucose tolerance test) เป็นการทดสอบการทำงานของตับอ่อนในการหลั่งอินซูลินหลังทานกลูโคสปริมาณสูง โดยวิธีการตรวจจะให้ผู้ตรวจดื่มน้ำละลายกลูโคส 75 กรัม หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง จึงทำการตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือด
ปกติ |
ภาวะก่อนเบาหวาน |
เบาหวาน |
<140 mg/dl |
>140 และ < 200 mg/dl |
> 200 mg/dl |
การรักษาและการดูแลตัวเองทำได้อย่างไร?
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดการรับประทานอาหารจำพวกไขมัน หยุดสูบบุหรี่ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะก่อนเบาหวานได้ อย่างไรก็ดี หากท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวานแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวไปข้างต้นยังคงเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานต่อไป สำหรับในรายที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ผลหรือไม่สามารถทำได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาร่วมด้วย โดยยาที่ใช้ ได้แก่ Metformin
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 10 ธันวาคม 2565