bih.button.backtotop.text

โพรไบโอติกส์... จุลินทรีย์ตัวจิ๋วที่มีประโยชน์หลากหลาย

ในร่างกายของเรามีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณทางเดินอาหารซึ่งมีจุลินทรีย์ทั้งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์อาศัยอยู่ หากสมดุลของจุลินทรีย์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ ดังนั้น การรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้จึงเป็นสิ่งสำคัญ หนึ่งในวิธีที่นิยมใช้ในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ คือ การใช้โพรไบโอติกส์ (Probiotics) พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และซินไบโอติกส์ (Synbiotics)

 

โพรไบโอติกส์คืออะไร?

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย พบได้ในอาหารประเภทหมักดอง นมเปรี้ยว โยเกิร์ต หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
โพรไบโอติกส์ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลากหลายชนิด ที่พบมากที่สุดเป็นแบคทีเรียกลุ่ม Lactobacillus (ได้แก่ Lactobacillus acidophilus, Lactobacillus casei และ Lactobacillus rhamnosus) และ Bifidobacterium (ได้แก่ Bifidobacterium longum, Bifidobacterium infantis และ Bifidobacterium bifidum) นอกจากแบคทีเรียแล้ว โพรไบโอติกส์ยังรวมถึงยีสต์ เช่น Saccharomyces boulardii

 

พรีไบโอติกส์คืออะไร?

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เป็นสารประกอบที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ (เช่น อินนูลิน และฟรุกโต-โอลิโกแซ็กคาไรด์อื่นๆ) แต่สามารถถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของจุลินทรีย์เหล่านั้น ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ พบได้ในธัญพืชไม่ขัดสี กล้วย กระเทียม ถั่วเหลือง และถั่วแดง
อาจกล่าวง่ายๆ คือ พรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ หากรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกส์ ก็จะช่วยเสริมฤทธิ์โพรไบโอติกส์ให้ดียิ่งขึ้น 

 

ซินไบโอติกส์คืออะไร?

ซินไบโอติกส์ (Synbiotics) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์เข้าไว้ด้วยกัน

 

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์คืออะไร? 

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์ ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งอาจเป็นจุลินทรีย์สายพันธุ์เดียวหรือจุลินทรีย์หลายสายพันธุ์ผสมกัน ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีด้วยกันหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบเม็ด (tablets) รูปแบบแคปซูล (capsules) รูปแบบเม็ดเคี้ยว (chewable tablets) รูปแบบผง (powders) และรูปแบบน้ำ (liquids)

 

บทบาทของโพรไบโอติกส์ในร่างกายมีอะไรบ้าง?

โพรไบโอติกส์อาจส่งผลต่อร่างกายได้หลากหลายอย่าง และโพรไบโอติกส์แต่ละชนิดอาจมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป บทบาทของโพรไบโอติกส์ในร่างกายโดยทั่วไป ได้แก่
  • ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย และช่วยให้สมดุลของจุลินทรียที่เสียไปกลับสู่ภาวะสมดุลดังเดิม
  • สร้างสารที่สามารถฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอื่นๆ
  • ป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้
  • ปรับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น
 

โพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

มีการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับโพรไบโอติกส์มากมาย ซึ่งพบว่าโพรไบโอติกส์มีประสิทธิภาพในการ
  • ป้องกันอาการท้องเสียที่เกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะ
  • ป้องกันอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile
  • ช่วยให้โรคลําไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis, UC) เข้าสู่ระยะสงบ และช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
  • ป้องกันการเกิดภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Necrotizing enterocolitis) และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ในทารกคลอดก่อนกำหนด
  • รักษาภาวะโคลิกในทารก
  • รักษาโรคปริทันต์ (Periodontal disease)
นอกจากนี้ ยังพบว่าโพรไบโอติกส์อาจมีประโยชน์สำหรับ
  • อาการท้องผูก
  • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome, IBS)
  • อาการท้องเสียในผู้เดินทาง (Traveler’s diarrhea)
  • อาการท้องเสียจากการรักษามะเร็ง
  • ภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้เล็ก (Small intestinal bacterial overgrowth, SIBO)
  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)
  • ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis)
  • เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
  • การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infections)
  • ฟันผุ
  • อาการวิตกกังวล เครียด
  • อาการนอนไม่หลับ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับการใช้โพรไบโอติกส์สำหรับโรคหรือภาวะความเจ็บป่วยข้างต้นที่มีในตอนนี้อาจยังไม่เพียงพอที่จะสรุปผลได้อย่างชัดเจน หากคุณกำลังคิดที่จะรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าโพรไบโอติกส์นั้นเหมาะกับคุณ
 

โพรไบโอติกส์มีอันตรายหรือไม่?

การใช้โพรไบโอติกส์นั้นปลอดภัย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมักมีอาการไม่รุนแรง เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ และคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าโพรไบโอติกส์อาจทำให้เกิดอาการแพ้และการติดเชื้อได้ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือบกพร่องจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้โพรไบโอติกส์




 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 มกราคม 2568

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs