bih.button.backtotop.text

ภาวะสายตาสั้นในเด็ก ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

จะรู้ได้อย่างไรว่าบุตรหลานของท่านมีภาวะสายตาสั้น?

ภาวะสายตาสั้น (Myopia, short-sightedness หรือ near-sightedness) คือ ภาวะที่ทำให้เห็นรูปภาพชัดเจนเมื่ออยู่ใกล้และไม่ชัดเมื่ออยู่ไกล ในเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นอาจพบพฤติกรรมเหล่านี้
  • บ่นว่ามองเห็นวัตถุระยะไกลไม่ชัดเจน
  • มักถือสิ่งของที่ต้องการมองใกล้ดวงตา
  • นั่งใกล้หน้าจอ
  • หรี่ตาหรือปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน
  • ขยี้ตาบ่อยๆ
  • กะพริบตาถี่ๆ
  • มีน้ำตาไหล
  • ปวดหัวบ่อย
หากพบว่าบุตรหลานของท่านมีพฤติกรรมดังกล่าว ควรรีบพาไปปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการแก้ไข ยิ่งแก้ไขได้เร็ว โอกาสในการชะลอการเกิดภาวะสายตาสั้นก็จะมีมากขึ้น และเด็กก็จะมีพัฒนาการในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

 

ภาวะสายตาสั้นเกิดจากอะไร?

ลักษณะโครงสร้างของกระบอกตายาวเกินไป หรือกระจกตามีความโค้งมากเกินไป ส่งผลให้แสงที่ตกกระทบวัตถุเข้าสู่ดวงตาตกบริเวณหน้าจอตา ไม่ได้โฟกัสที่จอตา จึงไม่สามารถโฟกัสได้อย่างถูกต้อง ทำให้มองเห็นภาพระยะใกล้ชัดเจน และระยะไกลไม่ชัดเจน

 

ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น?

  • พันธุกรรม
    • หากพ่อหรือแม่มีภาวะสายตาสั้น ความเสี่ยงที่บุตรจะมีภาวะสายตาสั้นจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า และหากพ่อและแม่มีภาวะสายตาสั้นทั้งคู่ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 เท่า
  • สิ่งแวดล้อม
    • เด็กที่ชอบทำกิจกรรมในที่ร่ม เช่น เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นแท็บเล็ต/สมาร์ทโฟน ดูโทรทัศน์ จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสายตาสั้นมากกว่าเด็กที่ชอบทำกิจกรรมอยู่กลางแจ้ง
 

ผู้ปกครองสามารถป้องกันภาวะนี้ได้อย่างไร?

  • การสังเกตอาการเบื้องต้น
    • การตรวจพบภาวะสายตาสั้นในระยะเริ่มต้นจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการชะลอภาวะความผิดปกติของสายตา จึงควรศึกษาลักษณะอาการของภาวะสายตาสั้น ร่วมกับสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ
  • การตรวจตาเป็นประจำ
    • การตรวจตาในเด็กเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อายุน้อย เนื่องจากเด็กอาจไม่รู้ตัวหรือไม่สามารถพูดถึงปัญหาการมองเห็นของตนเองได้ จึงต้องอาศัยจักษุแพทย์ในการประเมินการมองเห็น
  • การพักสายตา
    • แม้ว่าการอ่านหนังสือ หรือการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือการทำการบ้าน จะเป็นกิจกรรมปกติสำหรับเด็กและวัยรุ่น สิ่งสำคัญคือควรมีเวลาพักสายตาทุกๆ 20 นาที เพื่อบรรเทาความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา นอกจากนี้ ควรเว้นระยะห่างระหว่างตาและวัตถุอย่างน้อยหนึ่งช่วงแขน เพื่อลดอาการตาล้า และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสายตาสั้น
  • จำกัดเวลาการใช้หน้าจอ
    • การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตมากเกินไปมีส่วนทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น อาการตาล้า และอาการตาแห้ง เด็กในวัยเรียนและวัยรุ่นจึงควรจำกัดเวลาการใช้หน้าจอที่ไม่กี่ยวข้องกับการเรียนให้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพื่อรักษาสายตา
  • เพิ่มกิจกรรมกลางแจ้ง
    • จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าการทำกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่า 2 ชั่วโมง สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสายตาสั้นได้ เนื่องจากสมมติฐานที่ว่าทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาท Dopamine ซึ่งเป็นสารที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของกระบอกตา ทำให้สามารถชะลอภาวะสายตาสั้นได้
 

การแก้ไขภาวะสายตาสั้น

  • แว่นตา
    • แว่นตาเป็นวิธีเบื้องต้นในการปรับการมองเห็นของเด็กที่มองไม่ชัดเจน จากการศึกษาในเด็กอายุ 8 ถึง 13 ปี ที่เริ่มใช้แว่นตา Bifocal lenses พบว่าแว่นตานี้สามารถชะลอการเกิดภาวะสายตาสั้นได้ร้อยละ 33%
  • คอนแทคเลนส์
    • สำหรับบางเด็กบางกลุ่ม การใช้คอนแทนคเลนส์ทำให้การมองเห็นชัดเจน และมีระยะการมองเห็นกว้างขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้แว่นตา โดยคอนแทคเลนส์สามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ เลนส์ชนิดแข็ง ซึ่งมักมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี และเลนส์ชนิดอ่อน ซึ่งมีอายุการใช้งานหลากหลาย ทั้งชนิดที่เปลี่ยนทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน
  • Orthokeratology (Ortho-K)
    • Orthokeratology เป็นเลนส์ชนิดแข็งที่ออกแบบเฉพาะให้สวมใส่เพื่อปรับเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตา โดยการเปลี่ยนรูปร่างตา จะส่งผลให้แสงเข้าสู่ดวงตาได้ดีกว่า ทำให้เกิดการโฟกัสภาพได้ชัดเจนขึ้น
  • การใช้ยาหยอดตา: Atropine
 

การใช้ยาหยอดตา Atropine เพื่อชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็ก

ยาหยอดตา Atropine มีประสิทธิภาพในการชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็ก สามารถแบ่งความเข้มข้นออกเป็น 3 ระดับ คือ ความเข้มข้นสูง (1%, 0.5%), ความเข้มข้นปานกลาง (0.1%) และความเข้มข้นต่ำ (0.05%, 0.025%, 0.01%) การศึกษาพบว่ายาหยอดตา Atropine ความเข้มข้นต่ำ สามารถชะลอการเกิดภาวะสายตาสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น ระคายเคืองตา แสบตา หรือมองไม่ชัดเมื่ออยู่ใกล้ พบได้น้อยกว่ายาหยอดตา Atropine ความเข้มข้นสูง ดังนั้น แพทย์จึงมักเลือกใช้ยาหยอดตา Atropine ที่มีความเข้มข้นต่ำก่อน แล้วค่อยๆ ปรับ เพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสมที่สุดในเด็กแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ยาหยอดตา Atropine ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการมองเห็นได้ บุตรหลานของท่านยังคงต้องใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการมองเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ

หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง




 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 มกราคม 2568

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs