bih.button.backtotop.text

RSV: ศัตรูเงียบในผู้สูงวัย ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้สูงวัย

ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว เราควรมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงวัย เตรียมรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น  โรคหนึ่งที่หลายคนมองข้ามในผู้สูงวัยคือ การติดเชื้อไวรัส RSV ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัส RSV1
 
RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบน และส่วนล่าง เชื้อนี้ติดต่อผ่านการหายใจเอาละอองฝอยที่เกิดจากการไอ จามของผู้ป่วย การสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อโรคอยู่บนพื้นผิว
โรคติดเชื้อไวรัส RSV มักจะทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไอ ไข้ น้ำมูก ผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้สูงวัย หากเกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ส่วนล่าง อาจจะมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หรือออกซิเจนในเลือดต่ำ1


ความเสี่ยงและอันตรายของการติดเชื้อไวรัส RSV

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากการติดเชื้อไวรัส RSV ได้แก่ ภาวะปอด อักเสบ ซึ่งพบได้มากถึง 78% และภาวะหัวใจล้มเหลว พบได้ประมาณ 17%2
 

ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV?

ผู้สูงวัย โดยเฉพาะท่านที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคปอด อุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น หรือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรง3
 

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัส RSV

ข้อมูลในประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มีอัตราการเสียชีวิต 0.12%4 แต่ในทางกลับกัน ผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงวัย มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 15.9%5
นอกจากนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบผู้ป่วยสูงวัยที่ติดเชื้อไวรัส RSV ประมาณ 470,000 รายต่อปี ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล6
 

การรักษาโรคติดเชื่อไวรัส RSV       

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ1 เช่น ให้ยาบรรเทาอาการไอ ยาลดไข้ พ่นยาขยายหลอดลมตามอาการ ให้ออกซิเจนเสริมในกรณีที่ออกซิเจนในเลือดต่ำ หรือรักษาการติดเชื้อหากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
 

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV   

ปัจจุบัน RSV ในผู้สูงวัยสามารถป้องกันและลดความรุนแรงได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV นอกจากนี้โรคติดเชื้อไวรัส RSV สามารถป้องกันได้โดย1
  • หมั่นล้างมือ
  • สวมใส่หน้ากากอนามัย
  • เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อไวรัส RSV
  • ออกกำลังกาย และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
 

วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ในผู้สูงอายุ      

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV จะฉีดวัคซีน 1 เข็ม เข้าที่กล้ามเนื้อ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้สูงวัย ตั้งแต่อายุ 75 ปี ขึ้นไป หรือตั้งแต่อายุ 60 – 74 ปี ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสที่รุนแรง ตัวอย่างเช่น มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับ หรือโรคไตเรื้อรัง
 

ความปลอดภัยของวัคซีนและอาการข้างเคียง

หลังจากรับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักพบบริเวณที่ฉีด เช่น บวม แดง ปวดเมื่อยเนื้อตัว มีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งหายได้เองภายใน 2-3 วัน7,8
เราได้ทำความรู้จักกับโรคติดเชื้อไวรัส RSV กันเป็นอย่างดีแล้ว รู้ถึงความรุนแรงของโรคโดยเฉพาะกับผู้สูงวัย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และป้องกันตัวเองด้วยการหมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และอีกหนึ่งวิธีป้องกันที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน RSV
 
เอกสารอ้างอิง
1. Kaler, J. (2023). Cureus, 15(3), e36342.
2. Chuaychoo, B. (2021) IJID. 110, 237–246.
3. CDC. (2024, October 3). Clinical overview of RSV. Respiratory Syncytial Virus Infection (RSV).
https://www.cdc.gov/rsv/hcp/clinical-overview/index.html. Accessed 20 December 2024
4. Chuaychoo, B. (2019) J. Clin. Virol. 117, 103–108.
5. Naorat, S. (2013). J Infect Dis, 208 Suppl 3, S238–S245.
6. Savic, M. (2023). Influenza and other respiratory viruses, 17(1), e13031.
7. เอกสารกำกับยา วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อเรสไพราทอรี่ ซินไซเตียล ไวรัส (RSV) ชนิด PreF3 OA ชนิดที่มีสาร
เสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
8. เอกสารกำกับยา วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อเรสไพราทอรี่ ซินไซเตียล ไวรัส (RSV) ชนิด PreF3 โปรตีน
 
 
เรียบเรียงโดย คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์​   และ ศูนย์วัคซีน


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 22 เมษายน 2568

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs