bih.button.backtotop.text

RSV ไวรัสอันตราย… ป้องกันได้จริงหรือ?

31 กรกฎาคม 2567
RSV คืออะไร?     
Respiratory syncytial virus (RSV) เป็นไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้มที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส RSV หลังจากติดเชื้อ แต่ภูมิคุ้มกันนี้ไม่ได้อยู่ตลอดชีวิต จึงทำให้เราสามารถติดเชื้อไวรัส RSV ซ้ำได้หลายครั้ง


เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV แล้วจะมีอาการเป็นอย่างไร?
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักแสดงอาการภายใน 2-8 วันหลังได้รับเชื้อ โดยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่หากเชื้อไวรัส RSV ลุกลามลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น หลอดลมฝอยอักเสบหรือปอดอักเสบ ในกรณีที่ติดเชื้อขั้นรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เสียงหายใจดังวี้ด ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียว ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
 

เชื้อไวรัส RSV สามารถติดต่อได้ทางใดบ้าง?
เชื้อไวรัส RSV นั้นสามารถติดต่อได้ผ่านทางสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอหรือจามของผู้ป่วย หรือผ่านทางการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อ เช่น ของเล่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัส RSV สามารถมีชีวิตอยู่บนสิ่งของต่างๆ ได้นานหลายชั่วโมง
 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV?
  • เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนครบ 35 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์)
  • เด็กแรกเกิดอายุน้อยกว่า 1 ปี
  • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
 
เราสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างไร?
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV แบบเฉพาะทาง มีแต่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเราสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการสัมผัสและใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หมั่นล้างมือก่อนและหลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ และดูแลรักษาข้าวของเครื่องใช้ เช่น ของเล่น เสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน ให้สะอาดอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมียาและวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อในช่วงฤดูกาลการแพร่ระบาดของไวรัส RSV อีกด้วย

 
  1. โมโนโคลนอลแอนติบอดี ยาฉีดป้องกันสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง
“พาลิวิซูแมบ (Palivizumab)” เป็นยาประเภทโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) เพียงตัวเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ฉีดป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งได้แก่
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 สัปดาห์) ที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน 
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่มีโรคปอดเรื้อรัง (bronchopulmonary dysplasia; BPD / chronic lung disease of prematurity; CLDP) ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในช่วง 6 เดือนก่อนหน้า 
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตอย่างมีนัยสำคัญ (haemodynamically significant congenital heart disease; HS-CSD)
โดยยานี้สามารถลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ลดระยะเวลาการเข้ารับการรักษา ลดโอกาสการเข้ารับการรักษาตัวในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต และลดความรุนแรงของการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างในระหว่างช่วงฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคได้
 

ยาพาลิวิซูแมบต้องฉีดอย่างไร?
การฉีดยาพาลิวิซูแมบจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็ก ขนาดยาที่แนะนำคือ 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แนะนำให้เริ่มฉีดก่อนช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส RSV และฉีดต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลารวมทั้งหมด 5 เดือน (5 เข็ม) ในระหว่างช่วงฤดูกาลการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส RSV
 

ประสิทธิภาพของยาพาลิวิซูแมบเป็นอย่างไร?
ยาพาลิวิซูแมบมีประสิทธิภาพในการลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อไวรัส RSV ในกลุ่มเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนครบ 35 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์) ได้ 78% และในกลุ่มเด็กที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง (BPD) ได้ 39% นอกจากนี้ ยาพาลิวิซูแมบยังมีประสิทธิภาพในการลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อไวรัส RSV ในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตอย่างมีนัยสำคัญ (HS-CSD) ได้ถึง 45%
 

อาการข้างเคียงใดบ้างที่สามารถพบได้หลังจากฉีดยาพาลิวิซูแมบ?
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ มีไข้ เป็นผื่น และปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด

 
  1. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV สำหรับผู้สูงอายุและผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง
ในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 50 ถึง 59 ปี ที่มีความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดหน่วยย่อยรีคอมบิแนนท์ (recombinant subunit vaccine) ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนของไวรัส RSV โดยวัคซีนนี้สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคทางเดินหายใจส่วนล่าง (lower respiratory tract disease; LRTD) ที่มีสาเหตุมาจากไวรัส RSV ได้
 

วัคซีนนี้ต้องฉีดอย่างไร?
แนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ครั้งละ 1 เข็ม โดยฉีดเพียงครั้งเดียว


ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV เป็นอย่างไร?
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV มีประสิทธิภาพสูงถึง 82.6% ในการป้องกันโรคทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีโรคร่วมดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 โรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคทางเดินหายใจ/ปอดเรื้อรัง ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคตับหรือโรคไตเรื้อรัง พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ได้สูงถึง 94.6%


อาการข้างเคียงใดบ้างที่สามารถพบได้หลังจากฉีดวัคซีน?
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด อ่อนล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และปวดข้อ ซึ่งมักมีความรุนแรงเล็กน้อย และหายไปภายใน 2-3 วัน หลังฉีดวัคซีน
 

หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:



แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs