การเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางท่องเทียวในผู้สูงวัย Pre-travel health preparation for Older Adults (vs Healthy Travel for Older Adults)
การเตรียมความพร้อมทางด้านสุขภาพก่อนออกเดินทางสำหรับผู้สูงวัยเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการวางแผนเดินทางล่วงหน้าและการเตรียมตัวด้านสุขภาพให้พร้อมจะช่วยให้ผู้สูงวัยเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และมั่นใจ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางอีกด้วย
ผู้สูงวัยควรเตรียมความพร้อมทางด้านสุขภาพอย่างไรบ้างก่อนเดินทาง
- ผู้สูงวัยควรได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นก่อนออกเดินทาง เช่น ตรวจร่างกาย วัดความดัน และตรวจเลือด หากผู้สูงวัยมีโรคประจำตัว หรือเพิ่งเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในระหว่างการเดินทาง.
- ผู้สูงวัยที่รับประทานยาเป็นประจำ ควรเตรียมปริมาณยาให้เพียงพอกับระยะเวลาเดินทาง รวมทั้งแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อตรวจสอบรายการยา ให้คำแนะนำในการปรับเวลาในการรับประทานยาตาม time zone รวมทั้งออกเอกสารใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับรายละเอียดโรคประจำตัว และรายละเอียดของยาที่รับประทานเป็นประจำ เพื่อพกติดตัวในระหว่างเดินทาง
- ในผู้สูงวัย ภูมิต้านทานในร่างกายมักลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น การรับวัคซีน เป็นหนึ่งในวิธีป้องกันการติดเชื้อที่อาจจะได้รับในขณะเดินทาง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด และ วัคซีนป้องกันโรคอาร์เอสวี และนอกเหนือจากวัคซีนที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะมีวัคซีนบางชนิด ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางเข้าบางประเทศด้วย
- การทำประกันการเดินทางและประกันสุขภาพเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญสำหรับผู้สูงวัยก่อนการเดินทาง โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินระหว่างการเดินทาง ประกันการเดินทางจะช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ซึ่งรวมถึงการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ หรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับบ้าน ในขณะเดียวกัน ประกันสุขภาพจะช่วยให้มั่นใจว่าผู้สูงวัยได้รับการดูแลที่เหมาะสมหากเกิดเหตุฉุกเฉินทางสุขภาพ
- ในผู้สูงวัยที่มีประวัติหกล้ม หรือมีความเสี่ยงที่จะหกล้ม แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง แนะนำวิธีออกกำลังกายที่เหมาะกับสภาพร่างกาย รวมทั้งคัดกรองปัจจัยอื่นๆ ที่นำไปสู่การหกล้มได้ เช่น การใช้ยาบางประเภท
- หากมีกิจกรรมจำเพาะนอกเหนือจากการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น เดินขึ้นเขา ดำน้ำ ว่ายน้ำ หรือเดินเป็นระยะไกล ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อทำการประเมินระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ
- หากผู้สูงวัยมีโรคประจำตัวและจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่อง CPAP สำหรับใช้ในช่วงก่อนนอน ควรตรวจสอบนโยบายของสายการบินเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้นเครื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยระหว่างการเดินทาง
ระหว่างเดินทาง ต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง
- หากเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผู้สูงวัยควรพิจารณาที่นั่งติดทางเดิน เพื่อความสะดวกในการลุกนั่ง เนื่องจากระหว่างการเดินทาง ผู้สูงวัยอาจต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง หรืออาจต้องลุกขึ้นเพื่อขยับขาและยืดเหยียดร่างกาย การขยับขาอย่างสม่ำเสมอ หรือลุกเดินมีความสำคัญในการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Deep Vein Thrombosis - DVT) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการนั่งนิ่งนาน ๆ โดยเฉพาะในเที่ยวบินที่มีระยะเวลานาน
- อาหารการกิน แนะนำเลือกอาหารให้มีกากใยเพียงพอ มีผักผลไม้ในทุกๆ มื้อ รวมทั้งพิจารณาอาหารเค็มน้อย (โซเดียมต่ำ) เพื่อป้องกันและช่วยลดภาวะขาบวมในขณะเดินทาง
- เตรียมหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และไม่ลืมที่จะล้างมือบ่อยๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคระหว่างการเดินทาง
- ทานน้ำให้เพียงพอ ไม่ลืมที่จะดื่มน้ำในขณะเดินทาง การทานน้ำน้อย รวมทั้งกลั้นปัสสาววะ ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในปัสสาววะ
ถึงแม้จะมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเตรียมตัวทางด้านสุขภาพก่อนการเดินทางสำหรับผู้สูงวัย เมื่อมีการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม ผู้สูงวัยจะสามารถท่องเที่ยวได้อย่างมั่นใจ สะดวกสบาย ราบรื่น และเพลิดเพลินกับการเดินทางพร้อมๆ ไปกับครอบครัว
เรียบเรียงโดย
ผศ.พญ. ศุภกัญญา วงศ์รักษ์พานิช แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ - เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 08 เมษายน 2568