รู้จักกับโรค ‘ไข้เลือดออก’
ไข้เลือดออก หนึ่งในโรคติดต่อที่แพร่ระบาดได้มากที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (dengue viruses) ที่แพร่ระบาดจากคนสู่คนผ่านยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค จะเห็นได้ว่า ‘ยุง’ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด ดังนั้น มากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออาศัยอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ในประเทศไทยได้มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่า 24,030 ราย และมีรายงานการเสียชีวิตมากกว่า 20 ราย ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่อาจทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี
ไข้เลือดออกติดต่อได้อย่างไร?
เชื้อไวรัสเดงกีแพร่ระบาดสู่คนได้จากการถูกกัดโดยยุงลายที่เป็นพาหะ โดยสายพันธุ์ที่สำคัญคือยุงลายบ้าน (
Aedes aegypti) ที่อาศัยและแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำขังตามสิ่งของต่างๆ รอบบ้าน เช่น โอ่ง ขยะ หรือถ้วย ส่วนอีกสายพันธุ์ คือยุงลายสวน (
Aedes albopictus) ซึ่งแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำขังอย่างโพรงไม้ หรือใบไม้ในสวน เป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมโดยเฉพาะในฤดูฝน ยุงลายเพียงไม่กี่ตัว อาจแพร่เชื้อให้สมาชิกทั้งครอบครัวได้
เชื้อไวรัสเดงกีมีทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1 DENV-2 DENV-3 และ DENV-4 โดยทุกครั้งที่มีการแพร่ระบาดจะพบสายพันธุ์เหล่านี้ได้ทั้งหมด ดังนั้น ในแต่ละคนจึงสามารถเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้ง โดยมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ทั้งสี่สายพันธุ์
โรคไข้เลือดออกมีอาการอย่างไร?
ไข้เลือดออก หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่ง คือ ไข้กระดูกแตก (Breakbone fever) เนื่องจากอาการของไข้เลือดออกนอกเหนือไปจากอาการไข้สูงแล้ว ผู้ป่วยยังมีอาการอย่างปวดศีรษะรุนแรง ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดหลังได้รับเชื้อไปประมาณ 4-10 วัน และมีอาการต่อไปอีกประมาณ 2-7 วัน
ถึงแม้ว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไปจะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ในเด็กหรือผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีแนวโน้มที่อาการของโรคจะดำเนินไปถึงระยะวิกฤตที่เรียกว่า ไข้เลือดออกเดงกี (dengue hemorrhagic fever) และกลุ่มอาการช็อกจากไข้เลือดออก (dengue shock syndrome) โดยจะมีอาการเตือนต่าง ๆ ในช่วงที่ไข้ลงซึ่งจะกินระยะเวลา 1-2 วัน ได้แก่ ปวดท้อง กดเจ็บ อาเจียน (อย่างน้อย 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง) มีเลือดออกจากจมูกหรือเหงือก อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นเลือด รวมทั้งรู้สึกเหนื่อย กระสับกระส่าย หรือฉุนเฉียวง่าย การได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์อย่างรวดเร็วพร้อมกับการรักษาอย่างเหมาะสมจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออก
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคมีรายงานว่า ไข้เลือดออกสามารถพบได้ในทุกช่วงกลุ่มอายุ โดยอัตราการติดเชื้อไข้เลือดออกสูงสุดพบในเด็กอายุระหว่าง 5-14 ปี รองลงมาคือผู้ใหญ่อายุระหว่าง 15-24 ปี เนื่องจากในเด็กจะมีภูมิคุ้มกันต่อการป้องกันไวรัสได้เพียงเล็กน้อย จึงทำให้เป็นกลุ่มอายุที่มีความไวต่อการติดเชื้อมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มเด็กได้รับผลกระทบมากที่สุดพร้อมกับรายการการเสียชีวิตสูงสุดด้วย อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกเริ่มมีแนวโน้มค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว
มารู้จักกับ ‘วัคซีนไข้เลือดออก’
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 2 ชนิดด้วยกัน โดยทั้งคู่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตหรือเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) ที่มีความแตกต่างกันในส่วนของโครงสร้างหลักที่ใช้เป็นแกนกลาง (Backbone) โดยสามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้แก่
- วัคซีนไข้เลือดออกที่มีเชื้อไวรัสไข้เหลือง 17D เป็นแกนกลาง (Chimeric dengue vaccine in a yellow fever 17D backbone)
แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 3 เข็ม โดยเว้นห่างกัน 6 เดือน (ที่ 0, 6 และ 12 เดือน) ในผู้ที่มีอายุ 6-45 ปี ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน หรือมีผลการตรวจระดับภูมิคุ้มกัน (serological testing) ที่แสดงถึงการได้รับเชื้อในอดีต
- วัคซีนไข้เลือดออกที่มีเชื้อไวรัสเดงกีซีโรไทป์ 2 (DEN-2) เป็นแกนกลาง (Dengue serotype 2 virus backbone)
แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 2 เข็ม โดยเว้นห่างกัน 3 เดือน (ที่ 0 และ 3 เดือน) ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการยืนยันการติดเชื้อจากห้องปฏิบัติการ
ในภาพรวมประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เลือดออกสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 60-80 และป้องกันการเกิดไข้เลือดออกรุนแรงจนนำไปสู่การรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 70-90 สำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา
อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนไข้เลือดออกยังไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การดูแลป้องกันตนเองจากยุงพาหะยังคงมีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงอะไรบ้างหลังจากฉีดวัคซีน?
วัคซีนไข้เลือดออกทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงเพียงสองสามวันเท่านั้น เช่น อาการเจ็บ คัน ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ไม่มีแรง และรู้สึกไม่สบายทั่วไป บางคนอาจมีวูบหลังได้รับวัคซีน ให้แจ้งแพทย์ทราบหากคุณรู้สึกวิงเวียน การมองเห็นเปลี่ยนไป หรือมีหูอื้อ และเช่นเดียวกับยาตัวอื่นๆ วัคซีนยังมีโอกาสที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ หรืออาการข้างเคียงที่ควรเฝ้าระวังเช่นกัน
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 18 พฤศจิกายน 2567