“ชิคุนกุนยา” เป็นภาษามากอนดี หมายถึงอาการงอตัว สื่อถึงอาการของโรคชิคุนกุนยาที่มักแสดงออกด้วยอาการปวดข้อจนตัวงอ โรคชิคุนกุนยาเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยสามารถติดต่อได้จากยุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดไปยังทวีปแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อินเดีย และแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ครั้งแรกที่พบเชื้อไวรัสก่อโรคชิคุนกุนยาคือปี พ.ศ. 2556 ซึ่งพบในทวีปอเมริกาที่หมู่เกาะแคริบเบียนและในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว
โรคชิคุนกุนยา แตกต่างจากโรคไข้เลือดออกอย่างไร?
อาการ |
โรคชิคุนกุนยา |
โรคไข้เลือดออก |
อาการแรกเริ่ม |
ไข้, ปวดข้อ, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, ตาแดง, ผื่น |
ไข้, ปวดข้อ, ผื่น, ปวดศีรษะ |
ลักษณะของการปวดข้อและกล้ามเนื้อ |
ข้ออักเสบหลายข้อ โดยจะมีอาการสมมาตรกันทั้งสองข้างและมักเป็นกับบริเวณข้อเล็ก เช่น มือ, เท้า |
ปวดกล้ามเนื้อรุนแรงบริเวณหลังส่วนล่าง, แขน และ ขา หากมีอาการปวดข้อมักเป็นที่ข้อเข่าและหัวไหล่ |
การกระจายของผื่น |
ผิวหนังแดงโดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและลำตัว ผื่นมักพบบริเวณลำตัวและแขน ขา เป็นหลัก อาจพบที่ใบหน้าและฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้บ้างในบางราย |
ผื่นมักกระจายที่แขน ขา และใบหน้าเป็นหลัก |
อาการแทรกซ้อน |
อาจพบอาการปวดข้อเรื้อรังได้ ไม่ค่อยพบอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท |
อาการแทรกซ้อนจะรุนแรงกว่าโรคชิคุนกุนยา อาจพบภาวะช็อก หายใจลำบาก หรือภาวะเลือดออก |
โรคชิคุนกุนยาสามารถติดต่อผ่านทางใดได้บ้าง?
โรคชิคุนกุนยาสามารถติดต่อได้หลายทางด้วยกัน ได้แก่
- ติดต่อผ่านยุงลายสวนและยุงลายบ้านที่มีเชื้อไวรัสนี้จะแพร่เชื้อดังกล่าวไปยังคนถัดๆ ไปที่ถูกยุงกัด
- ติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อไปยังทารกในระยะแรกคลอด
- ติดต่อผ่านทางเลือด เช่น การให้หรือรับเลือดที่มีเชื้อไวรัส
ตามทฤษฎีแล้วไวรัสชิคุนกุนยาสามารถติดต่อผ่านมารดาไปยังทารกและผ่านทางเลือดได้ แต่ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวผ่านทั้งสองทางนี้
อาการของโรคชิคุนกุนยามีอะไรบ้าง?
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสโดยมากมักมีอาการเกิดขึ้น 3-7 วันหลังจากถูกยุงกัด โดยอาการหลักของโรคชิคุนกุนยาคือมีไข้และปวดบริเวณข้อ ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้คือ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อบวม และมีผื่นแดงขึ้นบริเวณลำตัว โดยทั่วไปมักมีอาการดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ยกเว้นอาการปวดบริเวณข้ออาจมีอาการนานเป็นเดือนได้ และโดยทั่วไปโรคชิคุนกุนยาไม่ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเสียชีวิต แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงและรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
โรคชิคุนกุนยารักษาได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคชิคุนกุนยา การรักษาโรคชิคุนกุนยาจึงใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยมีข้อแนะนำการปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
- นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้แอสไพริน (aspirin) หรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDS) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเลือดออก
- หากมียาเดิมที่ใช้รักษาโรคร่วม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อติดตามอาการและการใช้ยาอย่างใกล้ชิด
- ป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัดในสัปดาห์แรกที่ได้รับเชื้อ เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถพบได้ในเลือดและส่งผ่านจากผู้ติดเชื้อโดยมียุงเป็นพาหะในช่วงเวลาดังกล่าว
โรคชิคุนกุนยาป้องกันอย่างไร?
การป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การป้องกันการถูกยุงกัด และควรมีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างสม่ำเสมอ เช่น บริเวณน้ำที่ยุงอาจไปวางไข่ รวมถึงทำความสะอาดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
การป้องกันสำหรับทารกและเด็ก
- สวมใส่เสื้อผ้าแก่ทารกและเด็กให้มิดชิด
- ฉีดสเปรย์กันยุงให้เด็ก ยกเว้นในกรณีที่เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน ไม่ควรฉีดสเปรย์กันยุง
- ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่ประกอบด้วยน้ำมันยูคาลิปตัส หรือพาราเมนเทนไดออล (para-menthane-diol) ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี
การป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไป
- สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
- ในกรณีที่เป็นสเปรย์ป้องกันยุงที่ไม่ใช่สำหรับฉีดบริเวณตัว ไม่ควรฉีดสเปรย์ป้องกันยุงให้ถูกผิวหนังโดยตรง
- หากจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดด ให้ทาครีมกันแดดก่อนแล้วจึงใช้สเปรย์กันยุง
- ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท หากเป็นไปได้ควรใช้เครื่องปรับอากาศแทนการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399
Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 18 พฤศจิกายน 2567