bih.button.backtotop.text

รู้ทันมะเร็งลำไส้ใหญ่...ป้องกันได้


มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ หากทำการตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้นก่อนโรคจะลุกลามกลายเป็นมะเร็ง 
 
จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553 พบว่า ในประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิง ทั้งนี้ในช่วงชีวิตของแต่ละคนจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 5-6% และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ 2.5%
 
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ อายุมากกว่า 50 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง อาหารเนื้อแดง อาหารปิ้งย่าง อาหารที่มีกากใยน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และขาดการออกกำลังกาย 
 
มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยหลายรายจึงไม่ตระหนักว่าตนเองเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตามสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง อุจจาระมีเลือดปน (ซึ่งอาการนี้เป็นอาการสำคัญที่ควรใส่ใจเพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นแค่ริดสีดวงทวาร) ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบ ได้แก่ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดหรือซีดโดยไม่ทราบสาเหตุ
 
ด้วยเหตุนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นการตรวจหาติ่งเนื้อหรือเนื้องอกที่อยู่ในลำไส้ใหญ่จึงเป็นวิธีการที่จะช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดีที่สุด หากตรวจพบติ่งเนื้อจะได้ทำการตัดออกก่อนที่จะพัฒนาต่อไปกลายเป็นมะเร็ง
 
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจหาเลือดในอุจจาระ การตรวจเลือดหาค่า CEA (carcinoembryonic antigen) การสวนแป้งแบเรียม การส่องกล้องตรวจบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (sigmoidoscopy) และการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพที่สุด หากตรวจพบติ่งเนื้อ แพทย์สามารถทำการตัดออกได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยวิธีนี้หากตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ สามารถเข้ารับการตรวจได้ทุก 10 ปี แต่หากตรวจพบติ่งเนื้อหรือเนื้องอก แพทย์อาจแนะนำให้มาตรวจทุก 3-5 ปี  

 


ผู้ที่สมควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีทุกราย (โดยไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ) สำหรับผู้ที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือตรวจบ่อยกว่าคนทั่วไป
 
วิธีการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไหม้เกรียมซึ่งมีสารก่อมะเร็ง รับประทานผัก เช่น แครอท ผักใบเขียว ฟักทอง ให้มากขึ้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ชีพจรจะต้องเต้นเร็วขึ้น ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจควรเป็น (220-อายุ) x 80% และต้องออกกำลังกายต่อเนื่อง 20-40 นาที นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่าการรับประทานแอสไพรินต่อเนื่องนานๆ มีผลช่วยป้องกันมะเร็งได้
 
จะเห็นว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ไม่จำเป็นต้องมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ถ้าอายุเกิน 50 ปี ดังนั้น ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้  
 
เรียบเรียงจาก การบรรยายเรื่อง “ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก เป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่” โดยแพทย์หญิงวิภากร เพิ่มพูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 22 มิถุนายน 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs