เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษในยามเจ็บป่วย ระหว่างเดินทางหรือกินเลี้ยงในช่วงเทศกาลด้วยกลยุทธ์ง่าย ๆ เพียงอาศัยการวางแผนล่วงหน้าและความระมัดระวังในการดูแลตัวเองให้มากขึ้น
ป้องกันโรคเบาหวานกำเริบเมื่อเจ็บป่วย
อาการเจ็บป่วยที่เป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนทั่วไปอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ป่วย
โรคเบาหวานได้ เพราะ
ไข้หวัด ท้องร่วง อาการปวดท้องอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ถึงแม้ผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยควรปฎิบัติตัวดังนี้
- ห้ามหยุดรับประทานหรือหยุดยาอินซูลินเอง
- ดื่มน้ำมาก ๆ ชั่วโมงละ ครึ่งถึงหนึ่งแก้ว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 4-6 ชั่วโมง อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง
- วัดอุณหภุมิร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารตามปกติ หากรับประทานไม่ค่อยได้ให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊กหรือดื่มน้ำผลไม้ ไม่ควรงดอาหาร
- หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรือปวดท้องมากให้รีบไปพบแพทย์
- พักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามออกกำลังกาย
หากผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้ป่วยจะมีอาการหิวมาก มือสั่น เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ตาพร่ามัวหรือเห็นภาพซ้อน หงุดหงิดฉับพลัน ให้แก้ไขโดย
- รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมรวดเร็ว เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ครึ่งถึงหนึ่งแก้ว หรือน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 100 มิลลิลิตร หรือลูกอมที่มีน้ำตาล 2-3 เม็ด
- หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวให้จับนอนตะแคง หยอดน้ำหวานข้น ๆ หรือน้ำผึ้งที่กระพุ้งแก้มครั้งละน้อย ๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ตรวจน้ำตาลปลายนิ้วและรายงานแพทย์
- ถ้ามีอาการชักกระตุกเฉพาะที่หรือมีอาการซึม ให้รีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาล
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยผู้ป่วยมีอาการกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมากผิดปกติโดยเฉพาะในเวลากลางคืน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ตามัว ให้แก้ไขโดย
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ในกรณีที่ไม่จำกัดน้ำ
- ตรวจน้ำตาลปลายนิ้วและรายงานแพทย์
- ถ้ามีอาการชักกระตุกเฉพาะที่หรือมีอาการซึม ควรรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาล
ควบคุมเบาหวานในช่วงเทศกาลหรืองานเลี้ยง
ผู้ป่วยเบาหวานยังสามารถสนุกสนานกับเทศกาลได้ตามปกติ สิ่งสำคัญคือการวางแผนล่วงหน้าก่อนการรับประทานอาหารในช่วงเทศกาลหรือก่อนไปงานเลี้ยง
เคล็ดลับง่าย ๆ ต่อไปนี้ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเลือกอาหารที่มีประโยชน์และไม่เป็นอันตรายต่อระดับน้ำตาลในเลือด
- วางแผนล่วงหน้าโดยลดปริมาณไขมันในมื้ออื่น ๆ ลง หากรับประทานกลางวันมาก ควรลดอาหารมื้อเย็นลง
- หากคุณกังวลว่าจะรับประทานอาหารที่งานเลี้ยงไม่ได้หรือเป็นงานเลี้ยงโต๊ะจีน คุณอาจรับประทานอาหารจากบ้านรองท้องไปก่อน เพื่อจำกัดอาหารที่รับประทานในงานเลี้ยง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน ของหวาน น้ำอัดลมหรือน้ำหวาน
- รับประทานอาหารหมวดแป้งในปริมาณที่เคยรับประทาน
- เลือกส่วนเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อล้วน ไร้มันหรือมันน้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด ผัดที่มีน้ำมันมาก กะทิและอาหารที่อยู่ในรูปไขมันซ่อนรูป
- ไม่ดื่มสุราเพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
- รับประทานอาหารปริมาณเท่าปกติ หากมีอาหารหลายอย่าง ควรรับประทานอย่างละ 2-3 คำ
- ดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนเริ่มรับประทานอาหารจะช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น
เที่ยวให้สนุก ปลอดจากเบาหวานกำเริบ
บางครั้งผู้ป่วยอาจหลีกเลี่ยงการเดินทางไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนหรือติดต่อธุรกิจก็ตาม เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารในช่วงเทศกาล ก่อนเดินทางผู้ป่วยควรวางแผนล่วงหน้า
- ไม่ควรเดินทางหากควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีหรือมีโรคแทรกซ้อนที่เป็นข้อห้ามก่อนเดินทาง
- พกบัตรแสดงตัวว่าเป็นเบาหวานเผื่อเวลาฉุกเฉิน
- หากเดินทางไปต่างประเทศควรมีจดหมายแพทย์ระบุรายละเอียด เช่น ชื่อยา โรคประจำตัว โรคแทรกซ้อนและก่อนเดินทางให้ปรับเวลารับประทานยาให้ใกล้เคียงกับเวลาอาหารของประเทศที่จะเดินทางไป
- เตรียมยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมและใส่ในกระเป๋าติดตัว
- เตรียมของว่างประเภทขนมปังกรอบและน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- หากเดินทางระยะไกลด้วยรถยนต์ ควรหาข้อมูลร้านอาหารที่แวะระหว่างทางหรือเตรียมอาหารและน้ำผลไม้โดยใส่ในกล่องเก็บความเย็นเพื่อป้องกันอาหารเป็นพิษ
- เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย
เรียบเรียงโดย
ศูนย์เบาหวาน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565