bih.button.backtotop.text

รู้เท่าทันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมาจากการติดเชื้อโรคต่างๆ ตั้งแต่เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสและเชื้อรา โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ติดเชื้อโรคอื่นๆ เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายหยุดต่อสู้กับเชื้อโรคและกลับมาทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกายของตัวผู้ป่วยเอง ทำให้เกิดการอักเสบทั่วทั้งร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายทำงานล้มเหลวในที่สุด เป็นภาวะที่อันตรายต่อชีวิตและต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

 

สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 
  • การติดเชื้อที่ปอด เช่น ปอดบวม
  • การติดเชื้อทางเดินอาหารและตับ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ
  • การติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น การติดเชื้อที่สมองหรือไขสันหลัง
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง
 

ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เด็กทารกและสตรีมีครรภ์
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคไต
  • ผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าสู่ร่างกาย เช่น สายสวนปัสสาวะ สายสวนหลอดเลือดดำหรือท่อช่วยหายใจ
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น มีแผลขนาดใหญ่
  • ผู้ที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล
 

อาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมีอย่างไรบ้าง

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้หลายแห่งในร่าง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่หลากหลายแตกต่างกัน โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจอาการดังนี้
  • หัวใจเต้นเร็วหรือชีพจรอ่อน หายใจเร็วและตื้น
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • มีผื่นที่ผิวหนัง
  • ผิวหนังอุ่นและมีเหงื่อออกโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกสับสน
  • รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว
  • อาการบางอย่างที่แสดงถึงการติดเชื้อเฉพาะที่ เช่น ปัสสาวะเจ็บแสบจากการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะหรืออาการไอที่แย่ลงจากการติดเชื้อที่ปอด

หากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงจนถึงขั้นช็อค (septic shock) ผู้ป่วยจะรู้สึกสับสนอย่างมาก มีอาการง่วงซึมและไม่สามารถยืนขึ้นได้

 

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์และแพทย์มีวิธีรักษาอย่างไร

ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือมีการติดเชื้อที่ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโดยทันที ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นเรื่องฉุกเฉินที่อาจต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) การรักษารวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อโรคที่สงสัย การนำเลือดไปเพาะเชื้อและปรับยาปฏิชีวนะให้ตรงกับโรค การให้น้ำเกลือ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับยากระตุ้นความดันโลหิต (Vasopressor) หรือการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกไป

 

ป้องกันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้อย่างไร

  • รักษาสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ
  • รักษาความสะอาดของแผลและปิดแผลจนกว่าแผลจะหาย
  • ดูแลโรคประจำตัวที่เรื้อรังให้ดี พบแพทย์ตามที่นัดหมาย
  • หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อให้รีบไปพบแพทย์
  • ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำ

ศูนย์รักษาแผลแบบองค์รวม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยที่มีแผลและโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการรักษาแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) การรักษาด้วยเลเซอร์ (Photo Therapy: Healite II LED) พร้อมด้วยอุปกรณ์ทำแผลขั้นสูงเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 01 กรกฎาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs