bih.button.backtotop.text

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส... ไม่ใช่แค่ปอดอักเสบ แต่วัคซีนนี้ยังป้องกันคุณจากโรคร้ายอื่นได้อีกด้วย!

รู้จักกับโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส
โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Streptococcus pneumoniae (S. pneumoniae) ซึ่งสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณหูชั้นกลาง (หูชั้นกลางอักเสบ) การติดเชื้อบริเวณไซนัส (ไซนัสอักเสบ) รวมถึงการติดเชื้อในบริเวณอื่นๆ เช่น การติดเชื้อบริเวณปอด (ปอดอักเสบ) การติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อบริเวณสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะวิกฤตหรือเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี เราสามารถป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้ด้วยการฉีดวัคซีน

 
โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการอย่างไร
ปกติแล้วอาการและความรุนแรงของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสจะขึ้นกับบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาการที่พบ ได้แก่
  • หูชั้นกลางอักเสบ: ปวดหู สูญเสียการได้ยิน มีไข้
  • ไซนัสอักเสบ: ปวดบริเวณใบหน้า คัดแน่นจมูก ปวดศีรษะ มีน้ำมูกสีเขียว-เหลือง
  • ปอดอักเสบ: มีไข้ ไอ เจ็บบริเวณหน้าอก หายใจลำบาก
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด: มีไข้ ปวดเมื่อย เจ็บกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
  • การติดเชื้อบริเวณสมองและไขสันหลัง: มีไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง และอยู่ในภาวะวิกฤต


ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส
  • ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ใหญ่ในทุกช่วงอายุที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งได้แก่
    • ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
    • ผู้ป่วยโรคหัวใจเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง หรือโรคตับเรื้อรัง
    • ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
    • ผู้ป่วยที่มีการรั่วของน้ำไขสันหลัง
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
    • ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะอื่นๆ ที่มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
    • ผู้ป่วยกลุ่มโรคไตเนฟโฟรติก
    • ผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease) ผู้ป่วยที่ม้ามทำงานบกพร่อง หรือไม่มีม้าม
    • ผู้ที่สูบบุหรี่
 
เราสามารถป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้อย่างไร
โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสสามารถป้องกันได้จากการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส

 
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่มีจำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้มีด้วยกัน 2 ชนิด ซึ่งครอบคลุมสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน
  1. Pneumococcal conjugate vaccine (PCV10, PCV13 และ PCV15) ครอบคลุมเชื้อ 10, 13 และ 15 สายพันธุ์ ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงในเด็กและผู้ใหญ่
PCV15 เป็นวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต ตัวใหม่ในประเทศไทย ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส 15 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1, 3, 4, 5, 6A, 7F, 9V, 14, 18C, 19A, 19F, 22F, 23F และ 33F โดยสายพันธุ์ 22F และ 33F นั้น เป็นสายพันธุ์ที่เพิ่มเติมมาจาก PCV 13
  1. Pneumococcal polysaccharide vaccine (PPSV23) ครอบคลุม 23 สายพันธุ์ ที่มักก่อให้เกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง
ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสทั้ง 2 ชนิด ในวันเดียวกัน หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าท่านควรฉีดวัคซีน PCV13 หรือ PCV15 แนะนำให้ฉีดวัคซีนดังกล่าวก่อนฉีดวัคซีน PPSV23

 
เราต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสจำนวนกี่เข็ม
สำหรับเด็ก
แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต (PCV10/13/15) ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ทุกราย โดยฉีดจำนวน 4 เข็ม ในเด็กอายุ 2, 4, 6 และ 12-15 เดือน

สำหรับผู้ใหญ่
คำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสสำหรับผู้ใหญ่ สามารถแบ่งออกตามช่วงอายุได้เป็น 2 กลุ่ม
  • กลุ่มที่ 1: อายุ 19-64 ปี (ดังแสดงในตารางที่ 1)
  • กลุ่มที่ 2: อายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป (ดังแสดงในตารางที่ 2)
 
ตารางที่ 1: อายุ 19-64 ปี
โรคประจำตัวหรือ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส
PCV13/15 PPSV23
แนะนำให้ฉีด
(เข็มที่ 1)
เข็มกระตุ้น
(เข็มที่ 2)
ไม่มีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยง 🗙 🗙 🗙
ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • โรคหัวใจเรื้อรัง
  • โรคปอดเรื้อรัง
  • โรคตับเรื้อรัง
  • โรคเบาหวาน
  • สูบบุหรี่
✔*
หลังจากฉีด PCV13/15 อย่างน้อย 1 ปี
🗙
ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
  • ผ่านการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
  • มีการรั่วของน้ำไขสันหลัง

หลังจากฉีด PCV13/15 อย่างน้อย 8 สัปดาห์
ผู้ป่วยกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
  • โรคไตเรื้อรัง
  • ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง
  • โรคมะเร็งทั่วไป
  • ติดเชื้อเอชไอวี
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมาหรือเอ็มเอ็ม
  • กลุ่มโรคไตเนฟโฟรติก
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว หรือเฮโมโกลบินผิดปกติ
  • มีการปลูกถ่ายอวัยวะ

หลังจากฉีด PCV13/15 อย่างน้อย 8 สัปดาห์

หลังจากฉีด PPSV23 ครั้งแรก อย่างน้อย 5 ปี
🗙: ไม่แนะนำ, ✔: แนะนำให้ฉีด , * ภายใต้การพิจารณาของแพทย์
**แนะนำให้ฉีด PCV15 ในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสมาก่อน
 
ตารางที่ 2: อายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป
โรคประจำตัวหรือ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส
PCV13/15 PPSV23
ไม่มีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยง
หลังจากฉีด PCV13/15 อย่างน้อย 1 ปี
 
ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • โรคหัวใจเรื้อรัง
  • โรคปอดเรื้อรัง
  • โรคตับเรื้อรัง
  • โรคเบาหวาน
  • สูบบุหรี่

หากไม่เคยฉีด PCV13/15 มาก่อน

หลังจากฉีด PCV13/15 อย่างน้อย 1 ปี และห่างจากการฉีด PPSV23 ครั้งสุดท้าย (ตอนอายุ < 65 ปี) อย่างน้อย 5 ปี
ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
  • ผ่านการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
  • มีการรั่วของน้ำไขสันหลัง

หลังจากฉีด PCV13/15 อย่างน้อย 8 สัปดาห์ และห่างจากการฉีด PPSV23 ครั้งสุดท้าย (ตอนอายุ < 65 ปี) อย่างน้อย 5 ปี
ผู้ป่วยกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
  • โรคไตเรื้อรัง
  • ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง
  • โรคมะเร็งทั่วไป
  • ติดเชื้อเอชไอวี
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมาหรือเอ็มเอ็ม
  • กลุ่มโรคไตเนฟโฟรติก
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว หรือเฮโมโกลบินผิดปกติ
  • มีการปลูกถ่ายอวัยวะ
หากไม่เคยฉีด PCV13/15 มาก่อน

หลังจากฉีด PCV13/15 อย่างน้อย 8 สัปดาห์ และห่างจากการฉีด PPSV23 ครั้งสุดท้าย (ตอนอายุ < 65 ปี) อย่างน้อย 5 ปี
✔: แนะนำให้ฉีด
**แนะนำให้ฉีด PCV15 ในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสมาก่อน
 
มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงอะไรบ้างหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส
อาการข้างเคียงส่วนมากมักไม่รุนแรง ได้แก่ อาการแดง บวม ปวดหรือตึงในบริเวณที่ฉีด ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร มีไข้ ปวดศีรษะ และมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หากเกิดอาการเหล่านี้สามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน


 
ใครที่ไม่ควรรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส
ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบในวัคซีนอย่างรุนแรงควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนนี้ รวมถึงในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง มีไข้ ผู้ป่วยวิกฤตหนัก ควรรักษาตัวให้หายดีก่อนรับวัคซีนนี้
 

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19
การติดเชื้อโควิด 19 ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง จึงมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ส่งผลให้การติดเชื้อรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ มีรายงานจำนวนมากที่ระบุว่าการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคโควิด 19 มักเป็นการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรงช่วงการระบาดของโรคโควิด 19


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 14 พฤศจิกายน 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs