ในยุคปัจจุบันนี้คงไม่มีใครไม่ทราบถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพของทั้งผู้สูบเองและผู้ที่อยู่รอบข้าง แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในช่วงหลายปีมานี้กลับไม่ได้ลดลงเลย แม้จะมีการรณรงค์ส่งเสริมรวมถึงมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อการเลิกบุหรี่มากสักเพียงใดก็ตาม
จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่า ในจํานวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 54.8 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่มากถึง 11.4 ล้านคนหรือร้อยละ 20.7 โดยสูบเป็นประจํา 10 ล้านคน และสูบนาน ๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ที่มีผู้สูบบุหรี่อยู่ร้อยละ 19.9
มีการประเมินกันว่าผู้สูบบุหรี่เหล่านี้จำนวนถึง 1 ใน 4 จะเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอีก 10-20 ปีถัดไป เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด โดยเป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 50 ชนิด
ในแต่ละปีมีคนไทยจำนวนมากถึง 42,000 - 52,000 คนเสียชีวิตด้วยโรคที่เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคถุงลมโป่งพอง ทั้งที่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลงได้อย่างมากเพียงแค่เลิกสูบบุหรี่เท่านั้น
บุหรี่...ติดง่าย แต่เลิกยาก
ทำไมการเลิกบุหรี่จึงเป็นเรื่องยาก? สาเหตุก็เพราะบุหรี่นั้นไม่ต่างอะไรกับยาเสพติด โดยการติดบุหรี่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านหลักๆ ด้วยกันคือ การติดทางจิตใจซึ่งมักเกิดจากความเคยชินและความเชื่อที่ว่าบุหรี่ช่วยให้เกิดความสบายคลายเครียดได้ กับการติดทางร่างกายซึ่งก็คือการติดนิโคตินที่เป็นสารเสพติดในบุหรี่นั่นเอง
จากการศึกษาพบว่าเมื่อสูบบุหรี่ สารนิโคตินจะดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและผ่านไปยังสมองอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 6 วินาทีเท่านั้น ผู้สูบจึงรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลลงได้ในทันที แต่ก็เป็นผลระยะสั้นเท่านั้น เพราะเมื่อระดับนิโคตินลดลง อารมณ์ทางบวกนั้นก็หายไป หากต้องการความสบายอีกก็ต้องสูบอีกจนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด
เมื่อติดบุหรี่แล้ว การจะเลิกมักทำได้ยาก เพราะสิ่งที่ตามมาคืออาการถอนยาหรืออาการขาดนิโคติน ซึ่งจะเริ่มภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังการหยุดบุหรี่ โดยผู้สูบจะมีอาการดังนี้ คือ
อาการด้านอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ อยากยา ซึมเศร้า วิตกกังวล กระวนกระวาย หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย สมาธิลดลง นอนไม่หลับ
อาการด้านร่างกาย ได้แก่ หัวใจเต้นช้าลง อยากอาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ไม่มีเรี่ยวแรง ปวดศีรษะ ท้องผูก เหงื่อออก เป็นต้น
สำหรับวิธีเลิกบุหรี่นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น
- วิธีหักดิบหรือเลิกด้วยตัวเองโดยการหยุดสูบบุหรี่ทันที อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองไม่ประสบความสำเร็จในการเลิกและกลับไปสูบใหม่ภายใน 1 สัปดาห์เพราะเกิดอาการขาดนิโคตินนั่นเอง
- การใช้พฤติกรรมบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน รวมถึงหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอยากสูบ
- การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ โดยปัจจุบันมียา 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาที่มีสารนิโคตินทดแทนในขนาดต่ำในรูปแบบของหมากฝรั่งอดบุหรี่ หรือแผ่นแปะผิวหนังนิโคติน กับยาชนิดเม็ดที่ไม่มีนิโคตินสำหรับช่วยลดอาการถอนยาเนื่องจากขาดนิโคติน
- การฝังเข็มเพื่อช่วยลดอาการอยากและคลายความหงุดหงิด
ทั้งนี้ ผู้สูบบุหรี่อาจใช้หลายวิธีร่วมกันได้แต่ควรเริ่มด้วยวิธีไม่ใช้ยาก่อน หากเลิกไม่ได้จึงพิจารณาเลิกด้วยวิธีใช้ยาต่อไป
ตรวจคัดกรอง ต้องไม่ลืม
ในการวางแผนเลิกบุหรี่นั้น สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปคือการเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดซึ่งมีบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดถึงร้อยละ 90 และผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 22 เท่า
โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนในระยะแรก กว่าที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะที่ลุกลามแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งที่ยังสูบอยู่หรือเคยสูบแต่เลิกสูบมาเป็นเวลาน้อยกว่า 15 ปี มีอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computed tomography) ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยและใช้วิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าวิธีการตรวจเอกซเรย์ปอดธรรมดา
พฤติกรรมบำบัดเพื่อการเลิกบุหรี่
ในส่วนของการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัดนั้น ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เปิดให้บริการด้านการเลิกบุหรี่มานานถึง 10 ปีภายใต้การดูแลของแพทย์และมีพยาบาลผู้ประสานงานทางคลินิกเป็นผู้ให้คำปรึกษา โดยใช้วิธีเสริมสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อการเลิกบุหรี่ เนื่องจากแรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับพฤติกรรมเลิกสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดตามหลักการ 5A ก่อนเข้ารับคำปรึกษา ซึ่งได้แก่
- Ask การสอบถามอาการและพฤติกรรมการสูบบุหรี่
- Advise การแนะนำวิธีเลิกบุหรี่โดยการสร้างแรงจูงใจ
- Assess การประเมินอาการผู้สูบบุหรี่
- Assist การช่วยเหลือเมื่อผู้สูบบุหรี่เกิดความอยากบุหรี่
- Arrange การติดตามผลการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องสำหรับการให้บริการปรึกษานั้นจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี เริ่มตั้งแต่
- การประเมินสภาวะการเสพติดบุหรี่ด้วยการวัดระดับการติดสารนิโคตินและระดับก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์
- การให้คำปรึกษาที่สอดคล้องกับระดับความต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ เช่น ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะยังไม่คิดจะเลิกสูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่คิดจะเลิกแต่ยังไม่มีความมั่นใจ ผู้ป่วยที่ตั้งใจและพร้อมจะเลิก และผู้ป่วยที่เริ่มลงมือเลิกสูบแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ
- การติดตามผู้ป่วยทั้งโดยตรงและทางโทรศัพท์เพื่อให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
ด้วยการให้คำปรึกษาอย่างเป็นระบบและครบวงจรโดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ให้ได้
เรียบเรียงโดย นพ. ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 25 พฤศจิกายน 2565