โรคความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร หรือเรียกกันว่า Functional GI Disorders เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงานซึ่งมักใช้ชีวิตเร่งรีบ ขาดการออกกำลังกายและมีภาวะเครียดสูง โรคความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก แต่ด้วยวิทยาการการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันทำให้แพทย์มีเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การวินิจฉัยโรคเหล่านี้มักต้องอาศัยทีมงานอันประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาและพยาบาลที่มีความรู้เกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินอาหารเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ป่วยมักมีแต่อาการเท่านั้นแต่ตรวจไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน นอกจากนี้อาการของโรคยังคาบเกี่ยวกัน เช่น ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนอาจมีอาการท้องอืด หรือท้องผูกร่วมด้วย ทำให้วินิจฉัยได้ยาก แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยอาศัยเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากลเรียกว่า Rome criteria และแพทย์จะปรึกษาร่วมกันเพื่อตัดสินใจว่าจะใช้เครื่องมือใดในการวินิจฉัยร่วมด้วย
เครื่องมือในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารส่วนบน
- การส่องกล้องในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) เพื่อหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารส่วนต่างๆ อาทิเช่น กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือเนื้องอกต่างๆเป็นต้น เป็นวิธีการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นอย่างถูกต้อง โดยแพทย์จะพ่นชาเข้าไปในช่องปากและลำคอ ต่อจากนั้นจะทำการให้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยหลับระหว่างการตรวจและ ใส่กล้องตรวจเข้าไปเพื่อตรวจหลอดอหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ใช้เวลาประมาณ 10 -15 นาทีเท่านั้น โดยผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะการตรวจได้ผลการตรวจที่แม่นยำและมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้น้อย
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย เช่น ท้องผูกเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย ท้องเสียถ่ายเป็นมูกเลือด ใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ผอมยาวและยืดหยุ่นได้ มีกล้องบันทึกภาพเพื่อให้เห็นถึงความผิดปกติภายในได้ชัดเจน และแพทย์สามารถนำชิ้นเนื้อไปตรวจได้
- ตรวจวัดการทำงานของทางเดินอาหารส่วนต้นชนิดความละเอียดสูง ( High Resolution E sophageal Manometry and Impedance) สามารถดูการบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของหูรูดทั้งข้างบนและข้างล่าง การคลายตัว การปิดเปิด ตำแหน่งและความดันของหูรูด ในผู้ป่วยที่มีอาการกลืนลำบาก เจ็บหน้าอก หรือสงสัยว่าเป็นโรคของการทำงานของหลอดอาหารที่ผิดปกติ โดยแพทย์จะใส่ยาชาเข้าไปทางช่องจมูก ให้คนไข้กลืนสายลงไปในหลอดอาหารและให้ดื่มน้ำ เพื่อตรวจการทำงานของหลอดอาหารและการทำงานของหูรูด เป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยากทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและถูกต้องมากขึ้นและไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใดๆ
- การตรวจวัดค่าความเป็นกรด - ด่างในหลอดอาหาร (pH Monitoring) เป็นการตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง 24 ชั่วโมงและ 48 ชั่วโมง มักใช้หลังจากตรวจวัดการทำงานของทางเดินอาหารส่วนต้นแล้ว เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีกรดไหลย้อนหรือไม่ ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ
- การใช้สายวัดใส่ทางจมูกลงในหลอดอาหารทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง (24hr pH Impedance monitoring) และจึงนำมาวิเคราะห์ผลด้วยคอมพิวเตอร์ หลังใส่สายผู้ป่วยสามารถทานอาหารและทำกิจกรรมได้ตามปกติ
- การใช้ตัววัดเป็นแคบซูล (Bravo pH capsule) โดยการส่องกล้องและใส่แคบซูลเพื่อไปติดที่ผนังหลอดอาหาร แคบซูลจะส่งสัญญาณเป็นคลื่นวิทยุแสดงผลการติดตามวัดค่าความเป็นกรดไปยังเครื่องรับที่อยู่ภายนอกร่างกายผู้ป่วย การใช้วิธีนี้ผู้ป่วยจะสบายตัวกว่าเพราะไม่มีสายติดตัว สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องนอนโรงพยาบาล 48 ชั่วโมง
- การตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก (Long GI Study / GI Follow Through) เป็นการตรวจทางรังสีจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ภายหลังจากการดื่มสารทึบแสง (แป้งแบเรียม) เพื่อถายให้เห็นส่วนต่างๆของทางเดินอาหารตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก สามารถดูเวลาที่แป้งแบเรียมใช้เวลาในการผ่านตามส่วนต่างๆของลำไส้ได้
- Gastric and Small Bowel Emptying Time เป็นการศึกษาเพื่อใช้ดูการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยดูจากระยะเวลาที่ใช้ในการที่อาหารผ่านจากกระเพาะลงไปในลำไส้เล็กจนมาถึงลำไส้ใหญ่
เครื่องมือในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง
- การตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนักชนิดความละเอียดสูง (High-Resolution Anorectal Manometry) เป็นเครื่องมือตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง รวมถึงใช้ในการวินิจฉัยภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้และภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังสามารถตรวจดูความไวของทวารหนักต่อการรับความรู้สึกจากการกระตุ้น โดยการใส่ลมเข้าไปในลูกโป่งที่อยู่ปลายของสายตรวจเพื่อกระตุ้นความรู้สึกภายในทวารหนัก การตรวจนี้ช่วยให้แพทย์สามารถหาสาเหตุของความผิดปกติวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างตรงจุด
- การฝึกขับถ่ายให้เป็นธรรมชาติ ( Biofeedback Training ) ผู้ป่วยที่มีการเบ่งถ่ายที่ผิดวิธี ทำให้เกิดภาวะท้องผูกร้อยละ 25-30% ซึ่งเราสามารถตรวจและสอนเรื่องการเบ่งที่ถูกวิธีได้ มีการฝึกหายใจ โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นหลักแทนการหายใจด้วยปอดและสอนให้ฝึกเบ่งโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยระหว่างการฝึกจะมีแพทย์หรือพยาบาลคอยให้คำแนะนำ การฝึกถ่ายอุจจาระที่ถูกวิธีเพื่อรักษาโรคท้องผูก
- การตรวจดูการเคลื่อนผ่านของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ ( Colonic Transit Time ) เพื่อตรวจดูการทำงานของลำไส้ใหญ่ว่าเร็วช้าขนาดไหน มีความผิดปกติหรือไม่ โดยให้ผู้ป่วยกลืนเม็ดยาที่มีแถบทึบแสง (Sitzmarks Radiopaque Makers) หลังจากที่ผู้ป่วยกลืนไปได้ 3 และ 5 วัน จะทำการเอ็กซ์เรย์ดูจำนวน marker ที่เหลืออยู่ในลำไส้ใหญ่ ถ้า Sitzmark Radiopaque Makers ยังกระจายอยู่ทั่วไปแสดงว่าลำไส้ไม่ทำงาน โดยระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องงดยาระบาย
- การตรวจการเบ่งถ่ายด้วยเครื่อง MRI (MRI Defecography) เป็นการตรวจด้วยเครื่อง X Ray MRI เพื่อดูพยาธิสภาพของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อ หรือความผิดปกติอุ้มเชิงกรานและหูรูดทวารหนักและสามารถดูความสัมพันธ์ของการเบ่งถ่ายอุจจาระกับการทำงานของกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานและหูรูดทวารหนักได้ ผู้ป่วยสามารถเห็นและเข้าใจการทำงานของลำไส้และกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานขณะเบ่งได้ โดยแพทย์คอยให้คำอธิบาย
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
การเตรียมตัวขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจแต่ละวิธี ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยปกติการตรวจโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ประวัติการผ่าตัด ยาที่ใช้เป็นประจำ รวมถึงต้องงดน้ำและอาหารล่วงหน้า ระยะเวลาในการงดน้ำและอาหารขึ้นอยู่กับการตรวจแต่ละวิธี โดยทั่วไปแพทย์จะให้งดน้ำและอาหารประมาณ 6-8 ชั่วโมงล่วงหน้าและงดยาบางอย่างก่อนทำการตรวจ ส่วนการตรวจกรดไหลย้อนต้องลดยาลดกรดอย่างน้อย 3-5 วัน ทั้งนี้แล้วแต่ดุลพินิจของแพทย์ผู้ตรวจเป็นรายๆไป
ผลข้างเคียงจากการตรวจ
การตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้น้อยมาก ผลข้างเคียง เช่น ในกรณีที่มีการใส่สายเข้าทางจมูก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกทางจมูกบ้างซึ่งอาจเกิดจากที่ผู้ป่วยกินยาแอสไพรินหรือผู้ป่วยเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุด เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 09 พฤษภาคม 2565