bih.button.backtotop.text

การตรวจและวินิจฉัยหาเชื้อเอชไอวี

Human immunodeficiency virus หรือเอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อในกลุ่มของ retrovirus จัดอยู่ใน family Retroviridae มีจีโนมเป็น RNA เป็นเอชไอวีไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ HIV-1 และ HIV-2 เชื้อเอชไอวีสามารถแพร่ได้ทางเลือดหรือสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย
   

ช่องทางติดต่อเชื้อเอชไอวีที่สำคัญ

  1. ทางเพศสัมพันธ์ เป็นช่องทางติดต่อแพร่เชื้อที่พบบ่อยที่สุด โดยอัตราติดเชื้อร้อยละ 80
  2. ติดต่อจากแม่สู่ลูก
  3. ผ่านเข้าทางผิวหนัง เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การได้รับเลือด หรือการปลูกถ่ายอวัยวะจากการบริจาคมีการปนเปื้อนเชื้อเอชไอวี รวมทั้งการได้รับเชื้อจากอุบัติเหตุทางการแพทย์ โดยเฉพาะถูกเข็มตำหรือของมีคมบาด
 

กลุ่มบุคคลที่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อเอชไอวี

  1. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยงโดยไม่ป้องกัน
  2. ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยาง
  3. ผู้ติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  4. ผู้ติดสารเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน
  5. หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล
  6. ทารกที่เกิดจากมารดาติดเชื้อเอชไอวี
  7. ผู้ป่วยวัณโรค
  8. บุคลากรทางการแพทย์เกิดอุบัติเหตุจากการทำหัตถการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
 

การตรวจและวินิจฉัย

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีหลายรายไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ วิธีตรวจวินิจฉัยที่ได้รับการยอมรับในการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี มีหลายวิธี ซึ่งทุกวิธีควรปรึกษาแพทย์
วิธีในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่
  1. การตรวจหาแอนตีบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (anti –HIV testing) เป็นการทดสอบที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายที่สุด สามารถตรวจพบได้หลังสัมผัสเชื้อในช่วงเวลา 23-90 วัน
  2. การตรวจหาสารทางพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีหรือวิธี nucleic acid testing (NAT) สำหรับการตรวจ HIV RNA หรือ proviral DNA มีการใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามปริมาณไวรัส (viral load) ก่อนและหลังการรักษา

หลักการ ในระยะแรกวิธี NAT ได้ถูกนำมาใช้ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี เช่น การติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลันในช่วง 10-33 วันหลังจากมีการมีความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งแอนติบอดีให้ผลลบ และการตรวจวินิจฉัยทารกแรกเกิดที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะไม่สามารถใช้แอนติบอดีแปลผลได้ เพราะมีแอนติบอดีผ่านมาจากแม่

วิธี NAT ใช้ตรวจหาไวรัสในเชิงปริมาณ (viral load assays) เพื่อตรวจติดตามประเมินผลการรักษา แต่ไม่สามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีได้
 

วิธีการรายงานผล anti-HIV เพื่อการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี

ผลการตรวจและรายงานต่างๆ ต้องรักษาไว้เป็นความลับ วิธีการรายงานผลมีดังนี้
  1. รายงานผลเป็นลบ (anti-HIV negative) เมื่อผลการตรวจโดยชุดตรวจแรกเป็นไม่มีปฏิกิริยา (non-reactive)
  2. รายงานผลเป็นบวก (anti-HIV positive) เมื่อผลการตรวจทั้ง 3 ชุด ตรวจโดยห้องปฏิบัติการเดียวกันให้ผลมีปฏิกิริยา (reactive) ตรงกัน
  3. รายงานผลสรุปผลไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ (inconclusive)
 

สาเหตุของผลการทดสอบที่สรุปไม่ได้ (Inconclusive result)

การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี แม้ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนทำให้สามารถรายงานผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจพบการแปลผลที่สรุปผลไม่ได้ (inconclusive) เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างตั้งแต่ธรรมชาติและระยะเวลาของการติดเชื้อ ซึ่งระยะแรกของการติดเชื้ออาจพบแอนติบอดีในระดับต่ำ ต้องอาศัยการตรวจหา HIV genome

 

การใช้เทคนิค NAT

เพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตัดสินผลที่สรุปการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้หรือผลก้ำกึ่งของวิธีการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา หรือใช้วิธีการติดตามเจาะเลือดตรวจซ้ำเป็นระยะๆ จนครบกำหนดระยะ window period (ช่วงเวลาที่ผู้ได้รับเชื้อมาแต่ยังตรวจไม่พบเชื้อ)


 

ติดต่อสอบถามกับทีมพยาบาลผู้ให้คำปรึกษา (Clinical Nurse Coordinator) 

เบอร์โทร 081-8403894
เวลาสำหรับให้คำปรึกษา 08.00-17.00 น.


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 18 กุมภาพันธ์ 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs