bih.button.backtotop.text

การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ

Pre-Exposure Prophylaxis หรือชื่อย่อ PrEP คือ การให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีก่อนมีการสัมผัส (pre-exposure) ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกัน (prophylaxis) การติดเชื้อเอชไอวี
สูตรยาที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ
  1. Truvada (emtricitabine and tenofovir disoproxil fumarate)
  2. Descovy (emtricitabine and tenofovir alafenamide)
แต่อย่างไรก็ตาม PrEp ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ได้
   

ใครบ้างที่ควรรับประทานเพร็พ (PrEP)

คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่
  1. เพศชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับผู้ชายคนอื่นและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่ทราบสถานะผลเลือดว่าคู่นอนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
  2. มีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามที่มีเชื้อเอชไอวีและมีความต้องการที่จะมีบุตร
  3. คู่ครองมีเชื้อเอชไอวีแต่ไม่รับประทานยาต้านเชื้อเอชไอวี และไม่ใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำ
 

การเตรียมตัวก่อนเริ่มยาเพร็พ (PrEP)

เนื่องจากการใช้ยาเพร็พ (PrEP) ต้องรับประทานยาทุกวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสม ประโยชน์ที่จะได้รับ และควรได้รับความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี รวมถึงการประเมินค่าใช้จ่ายหรือแหล่งสนับสนุน เช่น ประกันสุขภาพก่อนเข้ารับบริการ
เมื่อตัดสินใจเริ่มยาควรปรึกษาแพทย์ เพื่อซักประวัติเกี่ยวกับอาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประวัติการใช้ยาอื่น และประวัติโรคไต พร้อมทั้งตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซี ซิฟิลิส และตรวจการตั้งครรภ์ในสตรี ทั้งนี้ควรเริ่มยาเพร็พ (PrEP) หลังจากการตรวจคัดกรองผลเลือดแล้วภายใน 7 วัน
 
 

ประสิทธิผลการใช้ยาเพร็พ (PrEP)

ขึ้นอยู่กับการรับประทานยาต่อเนื่องทุกวัน จะพบได้ว่าเมื่อรับประทานยาไปนานๆ อาจมีการลืมรับประทานยาหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น ควรต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเตือน เช่น ตั้งเวลาในโทรศัพท์มือถือ ใส่กล่องยาในผู้สูงอายุ ปรับพฤติกรรมให้เคยชินโดยรับประทานหลังอาหารหรือหลังจากแปรงฟันตอนเช้า เป็นต้น

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

เนื่องจากการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อไตหรือการสูญเสียมวลกระดูก ดังนั้นหลังรับประทานยาควรมีการติดตามโดยการตรวจเลือดตรวจสอบการทำงานของไตและตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีทุก 6 เดือน

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 16 มกราคม 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs