โรคอ้วนลงพุงหรือภาวะเมตาบอลิกซินโดรม เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขทั่วโลกเนื่องจากโรคนี้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น
โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง และโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น มีหลายการศึกษาพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสมีภาวะเมตาบอลิกซินโดรมประมาณร้อยละ 14-18
สาเหตุและปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุงหรือภาวะเมตาบอลิกซินโดรมในผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- การได้รับยาต้านไวรัส: เนื่องจากผู้ติดเชื้อต้องรับประทานยาในระยะยาว ก่อให้เกิดความผิดปกติของการกระจายตัวของไขมัน ทำให้มีการฝ่อของเนื้อเยื่อไขมันบริเวณใบหน้า แขน ขา หรือก้น และการสะสมของเนื้อเยื่อไขมันบริเวณด้านหลังของลำคอ บริเวณท้อง หรือเต้านมขยายใหญ่ขึ้น
- การเกิดภาวะความผิดปกติของไขมันในเลือด เช่น ไขมันแอลดีแอลสูงขึ้น ไขมันเอชดีแอลลดต่ำลง ระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และความดันในเลือดสูง รวมถึงทำให้ไขมันย้ายที่จากขา แขน สะโพก ใบหน้า ไปยังหน้าท้องทำให้อ้วนลงพุง
- เพศ: ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- อายุ
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
การตรวจและวินิจฉัย
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุงหรือ metabolic syndrome ตามเกณฑ์ของ National Cholesterol Education Program Adult Treatment Panel III (NCEP ATP III) 2007 ร่วมกับสหพันธ์เบาหวานโลก (International Diabetes Federation: IDF) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ในการตรวจสุขภาพประจำปีหรือการตรวจคัดกรอง จะต้องพบความผิดปกติอย่างน้อย 3 ข้อ
- เส้นรอบเอวเกินมาตรฐาน วัดเส้นรอบเอวในเพศชายมากกว่า 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) และในเพศหญิงมากกว่า 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว) หรือเพื่อให้การประเมินภาวะความเสี่ยงได้รวดเร็วจากผลการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงนำมาคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนการวัดเส้นรอบเอวได้ กลุ่มที่ผิดปกติ คือค่าดัชนีมวลกายมีค่ามากกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (สำหรับคนเอเชีย) ซึ่งค่านี้อาจเปลี่ยนแปลงตามเชื้อชาติ
- ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือได้รับยาลดความดันโลหิต
- ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง โดยมีค่ามากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือได้รับยาลดไขมัน
- ระดับไขมันตัวที่ดี (ไขมันเอชดีแอล) มีน้อย โดยมีค่าไขมันเอชดีแอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชายและน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง
- ระดับน้ำตาลเริ่มสูง คือ ระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือเป็นโรคเบาหวาน
การรักษาและป้องกันภาวะเมตาบอลิกซินโดรม
- ในปัจจุบันสูตรยาต้านไวรัสชนิดใหม่ช่วยลดการเกิดภาวะโรคอ้วนลงพุงหรือภาวะเมตาบอลิกซินโดรมได้
- ลดน้ำหนัก
- ออกกำลังกาย
- ลดอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- เลิกสูบบุหรี่และลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ติดต่อสอบถามกับทีมพยาบาลผู้ให้คำปรึกษา (Clinical Nurse Coordinator)
เบอร์โทร
081-8403894
เวลาสำหรับให้คำปรึกษา 08.00-17.00 น.
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 23 มิถุนายน 2565