bih.button.backtotop.text

Bumrungrad Podcast EP.42 Checklist สัญญาณข้อเข่าเสื่อม

อาการของข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างไร หากปล่อยไว้จนเรื้อรัง จะส่งผลยังไรบ้าง รับฟังได้ที่นี่




ในแต่ละวันตลอดชีวิตของเราข้อเข่าทั้งสองข้างต้องรับน้ำหนักและการเคลื่อนไหวนับครั้งไม่ถ้วน วัยที่มากขึ้นจึงมักจะพาความเสื่อมมาถึงข้อเข่าเสื่อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งเราใช้ร่างกายหนักหน่วงมากเท่าไหร่ ความเสื่อมนั้นก็อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด บทความนี้จะพูดถึงสาเหตุและสัญญาณของอาการข้อเข่าเสื่อม เพื่อให้ผู้อ่านได้รับมือกับอาการนี้ได้อย่างเหมาะสม
 
อาการที่บ่งบอกของโรคข้อเข่าเสื่อมมีอาการอะไรบ้าง
สิ่งแรกที่คนไข้ที่จะเป็นเริ่มแรก มักจะมีอาการ ตึงปวด บริเวณข้อพับเข่าที่อยู่ด้านหลังเข่า โดยส่วนมากจะมีอาการตึงปวดเริ่มแรกซึ่งยังไม่ได้ปวดภายในข้อจริงๆ ต่อมาก็จะมาปวดบริเวณด้านข้างของเข่า หรือบริเวณกระดูกสะบ้าหัวเข่า อาการโดยทั่วไปก็มักจะเป็นอาการปวดตอนเดินและเดินขึ้นลงบันได บางครั้งก็จะมีเสียงกรอบแกรบในเข่า มีอาการปวดเสียวมากขึ้นเมื่อต้องลงน้ำหนักหรือยืนด้วยขาข้างเดียว และไม่สามารถงอเหยียดเข่าไม่เต็มที่ รวมแม้กระทั่งการนั่งยองๆ กับท่าที่ต้องงอเข่ามากๆ  ประการสุดท้ายก็คือรูปร่างเข่าที่ผิดปกติซึ่งจะเป็นได้ทั้ง 2 รูปแบบ ที่เราเห็นพบบ่อยก็คือเข่าโก่งเข้าด้านในและเฉออก ซึ่งสัญญาณหรืออาการที่บ่งบอกโรคข้อเข่าเสื่อม มีทั้งทางด้านของกายภาพที่เราสามารถมองได้ด้วยสายตา และจากการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้รักษา
 
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม
ปัญหาส่วนใหญ่ล้วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมหรือกิจจกรมที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น
  • น้ำหนักเกิน - หัวข้อเข่าทั้งสองข้างของเราแบกรับน้ำหนักตัวตลอดเวลา ถ้าเรามีน้ำหนักตัวที่มากเกิน ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักเกินจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการเสื่อมของข้อเข่า เราควรควบคุมน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับกับสรีระ และของดัชนีมวลกายหรือ BMI ไม่ควรสูงกว่า 25
  • อาการเสื่อมตามวัย และเสื่อมก่อนวัย - อาการข้อเข่าเสื่อมตามวัยโดยธรรมชาติจะเกิดช่วงอายุประมาณ 50-60 ขึ้นไป หรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมวลกระดูกมีความแข็งแรงลดลง เช่น ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มพบปัญหาการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้กระดูกข้อต่อเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบ จึงรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ปกติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการ “ข้อเสื่อม” มักมีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น
  • การออกกำลังกายที่มีการกระแทกข้อซ้ำๆ ต่อเนื่องยาวนาน - การใช้งานข้อต่อต่างๆ อย่างหนักหรือหักโหมจนเกินไปก็เป็นสาเหตุของอาการข้อเสื่อม เช่น การออกกำลังกายโดยการวิ่งที่มีแรงกระแทกของข้อ การยกน้ำหนัก หรือท่าบริหาร squat ที่ใช้ข้อเข่าพยุงในการแบกน้ำหนักใน ทำให้ข้อเข่ามีปัญหาก่อนวัยอันควรได้
  • อุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บที่เกียวกับข้อเข่า - การเกิดอุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม หรือเกิดจากการเล่นกีฬา ที่ได้รับการกระแทกกับข้อโดยตรง หรือในบางรายมีอาการโรคเข่าอักเสบมาก่อน เช่น ข้อรูมาตอยด์  โรคเก๊าท์
  • กรรมพันธุ์ – เรื่องของกรรมพันธุ์ที่มีส่วนโดยตรงกับข้อเข่านั้นอาจเกิดขึ้นได้ เช่น การกรรมพันธุ์โรคอ้วนที่มาจากครอบครัว ซึ่งอาจจะเป็นเป็นสาเหตุโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ถ้ามีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

เรื่องของโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
โรคข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถหายขาด เพราะเมื่อมีอาการเสื่อมแล้วจะไม่สามรถกลับมาดังเดิมแบบ 100%  วิธีการรักษาจะเป็นการชะลอความเสื่อมและรักษาสภาพข้อให้ไม่เสื่อมมากไปกว่าที่เป็น
 
วิธีการรักษาข้อเข่าเสื่อมแบ่งเป็น 3 วิธี ใหญ่ๆ คือ
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทานยา ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด - สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มแรก
  • การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดด้วยการฉีดยาเข้าข้อเข่า ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด – สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มแรกจนถึงปานกลาง
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด – สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากและเรื้อรัง
 
การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดด้วยการฉีดยาข้อเข่า
  • การฉีดยาสเตียรอยด์ เป็นการฉีดยาช่วยบรรเทาและลดการอักเสบได้ชั่วคราว แต่ควรเป็นไปโดยภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ เพราะการฉีดยาสเตียรอยด์หลายๆครั้งก็มีผลเสียได้
     
  • การฉีดน้ำไขข้อเทียม น้ำไขข้อเทียมก็เป็นน้ำที่เข้าไปช่วยเสริมให้ข้อเข่ามีการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียมเข้าไปในข้อจึงช่วยชดเชยสารไฮยาลูรอนิคตามธรรมชาติที่เสื่อมสภาพไป สามารถช่วยลดอาการข้อเข่าปวดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม โดยระยะเวลาในการฉีดมีตั้งแต่ 3-5 ครั้ง ครั้งละสัปดาห์ และการฉีดสามารถอยู่ได้ถึงประมาณ 6 เดือน เหมาะกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกจนถึงปานกลาง การฉีดน้ำไขข้อเทียมต้องมั่นใจว่าใช้กระบวนการที่สะอาดพอเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อที่เข่า และควรได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ
     
  • การฉีดพลาสมาที่มีเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet Rich Plasma) โดยการนำเลือดของผู้ป่วยเองเอามาปั่นเพื่อให้ได้เกล็ดเลือดที่เข้มข้นและฉีดกลับเข้าไปที่ข้อเข่าของผู้ป่วย ในเกล็ดเลือดสามารถที่จะกระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์ เหมาะกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกที่กระดูกอ่อนยังเสียหายไม่มาก เคยรับประทานยา ทำกายภาพบำบัดและฉีดยาสเตียรอยด์แล้วแต่ไม่หาย เหมาะกับผู้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรกไปจนถึงปานกลาง
อย่างไรก็ตามการฉีดยาข้อเข่าไม่ใช้เป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ ควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางและมีประสบการณ์ในการฉีดยาข้อเข่าเท่านั้น เพราะการฉีดยามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพ้ยาได้เช่นกัน นอกจากนี้ผลลัพธ์ในการรักษายังแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย ในบางรายที่รักษาแล้วไม่ได้ผลดี แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป
 
การรักษาโดยการผ่าตัด
แพทย์จะเฝ้าดูอาการเป็นระยะๆ จนกระทั่งเหมาะสมว่าคนไข้สมควรที่จะผ่าตัดหรือไม่ หลังจากทำการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วยังไม่ได้ผล สิ่งสำคัญคือคุณภาพชีวิตของคนไข้โดยรวม ถ้าคนไข้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มที่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ สุขภาพของคนไข้โดยรวมจะยิ่งแย่ลงเพราะไม่ได้บริหารร่างกาย จึงต้องมีการพิจารณาและตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และคนไข้ถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนไข้ให้ได้มากที่สุดในการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคข้อเข่าเสื่อมอีกต่อไป

การรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดจัดมุมกระดูกใหม่ ในผู้ป่วยที่มีข้อเข่าโก่ง หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพียงบางส่วน (Partial knee replacement) และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด (Total knee replacement) ซึ่งจะใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสื่อมที่รุนแรงมากจนการรักษาโดยวิธีอื่นไม่ได้ผลแล้ว 
 
ข้อแนะนำในเพิ่มเติมในการดูแลข้อเข่า
  • การควบคุมเรื่องน้ำหนักตัว ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวมาก
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อิริยาบถการใช้เข่าให้ถูกวิธี และหลีกเลี่ยงการใช้งานมากในเข่าข้างที่มีอาการบาดเจ็บ และหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
  • การออกกำลังกายที่ไม่ใช้เข่ามากจนเกินไป เช่น การว่ายน้ำ การออกกำลังกายในน้ำ (Aqua aerobic) และทำร่วมกับการออกำลังกายเฉพาะที่เพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่อยู่สำคัญต่อเข่าเช่น กล้ามเนื้อต้นขา ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งเราเรียกว่า Quadriceps กับ Hamstring ช่วยให้เข่ามีความแข็งแรงมากขึ้นในการรับน้ำหนัก และควรทำอย่างสม่ำเสมอ
  • การใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ ในบางกรณีที่มีอาการเจ็บปวดไม่มากสามารถใช้เป็นยาทาภายนอก หรือใช้น้ำอุ่นประคบเพื่อช่วยลดอาการอักเสบได้
  • โดยรับประทานยาและอาหารเสริม เช่นพวกกลูโคซามีน และคอนดรอยตินซัลเฟต ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ ซึ่งในตัวยาจะมีส่วนประกอบของผิวข้อ ทั้งนี้ควรศึกษาข้อมูลหรือปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานยา
หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาในขั้นต่อไป
ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ​ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความเสื่อมของข้อสะโพกและข้อเข่า โดยรวมแพทย์ผู้ชำนาญและมีประสบการณ์ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ทีมแพทย์ของเราให้การดูแลรักษาและผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยมามากกว่าพันราย ประสบการณ์ในการทำงานด้านเปลี่ยนข้อเทียมมากกว่าสิบปี โดยใช้ข้อเทียมที่ดีมีมาตรฐาน และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เรายังมีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และดูแลฟื้นฟูสภาพภายหลังการผ่าตัด ทีมศัลยแพทย์ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมยังเป็นทีมแพทย์ที่มีชื่อเสียงในวงการแพทย์ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมทั้งภายในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้เรายังมีทีมแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้องและทีมสหสาขาวิชาชีพที่ชำนาญพิเศษในการดูแลผู้ป่วยโรคข้อ ซึ่งทำงานเป็นทีมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ไปจนถึงการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัด เป้าหมายของเราคือการทำให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้เหมือนเดิม

เรียบเรียงโดย รศ. นพ.สิทธิพร อรพินท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อและข้อเทียมโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


 
 
 
Layout-BI-Podcast-Badge_Spotify-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_YouTube-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Apple-Podcasts-360x118.png

Layout-BI-Podcast-Badge_Google-Podcasts-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Anchor-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Blockdit-360x118.png


 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 23 มิถุนายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs