ใน
การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจนั้น มีกระบวนการ ขั้นตอนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากมายที่แพทย์จำเป็นต้องเลือกใช้ ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และใน Better Health ฉบับนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับเทคนิคและเครื่องมือที่ช่วยชีวิตผู้ป่วย โรคหัวใจมาแล้วจำนวนนับไม่ถ้วน
เริ่มด้วย
การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ ซึ่งแพทย์มักเลือกใช้หลายวิธีการประกอบกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน สมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากการตรวจต่าง ๆ ในระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้นมีวิธีการและจุดเด่นแตกต่างกัน และนี่คือสองตัวอย่างของเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคหัวใจ
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Testing)
นพ.พิษณุ เกิดสินธ์ชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยวิธีนี้ว่า เป็น
การตรวจสมรรถสภาพหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โดยให้ผู้เข้ารับการทดสอบเดินหรือวิ่งบนสายพาน เนื่องจากการออกกำลังกายทำให้ความต้องการเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจมากขึ้น ถ้ามีเส้นเลือดตีบก็จะแสดงออกทางอาการเจ็บหน้าอกหรือจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ
ก่อนการทดสอบ เจ้าหน้าที่จะติดเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พร้อมทั้งเครื่องวัดความดันโลหิต โดยแพทย์เป็นผู้กำหนดโปรแกรมการตรวจให้เหมาะสมกับผู้ทดสอบแต่ละท่าน ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของผู้ทดสอบ “เราไม่ได้เจาะจงว่าต้องวิ่งนานเท่าใด แต่จะดูว่าชีพจรถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่” นพ.พิษณุ อธิบาย “สำหรับบางคนอาจไม่ต้องวิ่ง แค่เดินเร็ว ๆ ก็ได้เพราะเรามุ่งเน้นที่ชีพจรเป้าหมายเป็นหลักโดยกราฟหัวใจจะเป็นตัวบ่งชี้ความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงอาการเจ็บ แน่นหน้าอก”
ทั้งนี้แพทย์แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบสูงคือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 - 45 ปี โดยเฉพาะเพศชาย รวมถึงผู้ที่มีประวัติโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีประวัติโรคหัวใจในครอบครัวเข้ารับการตรวจ อย่างไรก็ตาม การทดสอบประเภทนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องหัวเข่า มีอาการเวียนศีรษะ หรือมีกราฟหัวใจผิดปกติอยู่แล้ว
“สำหรับผู้ที่รับประทานยาลดความดันบางประเภทที่ควบคุมการเต้นของหัวใจอยู่ ควรหยุดยาก่อนเข้ารับการตรวจ โดยปรึกษาแพทย์ก่อนว่าท่านควรหยุดรับประทานยานานเท่าใดจึงจะเหมาะสม” นพ.พิษณุกล่าวเสริม
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
นอกจากการตรวจด้วย EXERCISE STRESS TESTING แล้วยังมีการตรวจ อีกวิธีหนึ่งที่แพทย์นำมาใช้ คือ
การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) ซึ่ง
พญ.ธัญลักษณ์ ชัยเสรี อายุรแพทย์โรคหัวใจ ได้อธิบายว่า “เครื่อง ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงนั้นใช้หลักการเดียวกันกับการตรวจอัลตราซาวด์อวัยวะอื่น ๆ คือใช้คลื่นเสียงสะท้อนแล้วแปล ความถี่ออกมาเป็นภาพ ทำให้เราสามารถเห็นกายวิภาคของหัวใจ รวมถึงสามารถวัดขนาดของหัวใจห้องต่าง ๆ ความหนาของผนังห้องหัวใจ และการบีบตัวของผนังหัวใจว่าแข็งแรงหรืออ่อนแรงกว่าปกติ”
พญ.ธัญลักษณ์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยีนี้ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าหัวใจมีภาวะขาดเลือดส่วนใดหรือกล้ามเนื้อ หัวใจบีบตัวไม่แข็งแรงไปทุก ๆ ส่วน นอกจากนี้ในการตรวจระบบไหลเวียนของเลือด เครื่องสามารถเติมสีตามระดับความเร็วของเลือดที่ไหลเวียนภายในหัวใจ ทำให้สามารถวินิจฉัยได้ว่ามีการรั่วหรือตีบของลิ้นหัวใจใดบ้าง และสามารถคำนวณความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจได้ นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่นรูรั่วของผนังกั้นหัวใจได้”
ทั้งนี้การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงเป็นการตรวจที่แทบไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วยเลยแพทย์จึงสามารถใช้ ในการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจได้เกือบทุกประเภท อาทิ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ รวมถึงตรวจหาก้อนเลือดที่คั่งภายในหัวใจและเนื้องอกของหัวใจด้วย ส่วนโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ การวินิจฉัยโดยการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เป็นการวินิจฉัยทางอ้อมเพราะการตรวจชนิดนี้ไม่สามารถมองเห็นเส้นเลือดหัวใจโดยตรงได้ ในกรณีที่ต้องการเห็นเส้นเลือดหัวใจโดยตรง สามารถตรวจด้วยการทำ MSCT Coronay Artery หรือ
การฉีดสีเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจโดยตรง (Coronary Angiogram) แทน
สำหรับเทคโนโลยีในการรักษาโรคหัวใจที่เราจะนำเสนอในฉบับนี้ ได้แก่
การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker Implantation)
ยามที่หัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะเต้นช้า จนส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน เป็นลมบ่อยหรือหัวใจวายนั้น
การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือ Pacemaker ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการรักษา ซึ่งเรื่องนี้
นพ.โชติกร คุณวัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจได้ช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องมือดังกล่าวว่า “เครื่องกระตุ้นหัวใจจะใช้กับคนไข้ที่หัวใจเต้นช้าผิดปกติ คนไข้อาจมีโรคหัวใจบางอย่างที่มีผลทำให้หัวใจเต้นช้ามากผิดปกติ หรืออาจมีความจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคบางโรคที่ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และไม่สามารถหยุดยานั้นได้แพทย์จึงจำเป็นต้องฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจเพื่อช่วยให้หัวใจทำงานเป็นปกติ”
“โดยปกติหัวใจแต่ละห้องนั้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเองได้ กระแสไฟฟ้าจะกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายแต่ถ้ากระแสไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติก็จะทำให้เกิดอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าการเต้นช้าผิดปกติของหัวใจไม่สามารถจะแก้ไขให้หายได้ด้วยการรักษาโรคต้นเหตุ หรือไม่สามารถหยุดยาที่เป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นช้าลงได้การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจจึงเป็นการรักษาขั้นสุดท้ายที่ช่วยไม่ให้หัวใจเต้นช้าลง โดยเครื่องกระตุ้นหัวใจจะทำงานโดยเฝ้าระวังและเมื่อตรวจพบว่าหัวใจเต้นช้ามากผิดปกติเกินที่กำหนดไว้เครื่องก็จะผลิตกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นในระดับปกติ” นพ.โชติกร อธิบายเพิ่มเติม
เครื่องกระตุ้นหัวใจนั้นประกอบด้วยตัวเครื่องและสายสื่อ (Lead) แพทย์จะผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจที่บริเวณหน้าอกซ้ายใต้กระดูกไหปลาร้าและเชื่อมต่อระหว่างตัวเครื่องและหัวใจด้วยสายสื่อ “ตัวสายสื่อนี้มีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างยาวนาน ส่วนตัวเครื่องกระตุ้นหัวใจมีอายุการใช้งานประมาณ 5 - 10 ปี”
หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 - 2 วันเพื่อดูอาการและดูว่าสายสื่อมีการเคลื่อนตำแหน่งหรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์อาจนัดอีกเป็นระยะ ๆ เพื่อดูบาดแผลและตรวจเช็คการทำงานของเครื่อง
การใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Stenting)
ในกรณีที่คนไข้มีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ หนทางหนึ่งในการรักษาคือ
การใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Stenting) ที่มักทำพร้อมกับการทำบอลลูนหัวใจ เรื่องนี้ หนึ่งในทีมอายุรแพทย์โรคหัวใจของศูนย์หัวใจอธิบายว่า “การทำบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจนั้นไม่ต้องผ่าตัดคนไข้เลย แพทย์เพียงสอดท่อยาวที่มีบอลลูนที่ยังไม่พองตัวเข้าไปที่เส้นเลือดที่อุดตันโดยดูภาพภายในร่างกายจากเครื่องเอกซเรย์ จากนั้นจะทำให้บอลลูนพองตัวถ่างขยายเส้นเลือดเพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดสะดวกยิ่งขึ้น ส่วนขดลวดจะสปริงตัวออกคอยค้ำยันหลอดเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอุดตันซ้ำอีก”
ขดลวด หรือ Stent ผลิตจากแสตนเลสสตีลหรือโครเมี่ยมซึ่งมีส่วนผสมของโลหะน้อยมาก ดังนั้นจึงแทบจะไม่ส่งผลเมื่ออยู่ใกล้ เครื่องตรวจจับโลหะ นอกจากนี้ นอกจากขดลวดแบบธรรมดาแล้วยังมีขดลวดที่เคลือบยาต้านการตีบของเส้นเลือด ซึ่งจะช่วยให้อัตราการ ตีบซ้ำของเส้นเลือดน้อยกว่าการใช้ขดลวดแบบธรรมดา
“ข้อดีของ
การรักษาโดยการทำบอลลูนและใส่ขดลวด คือ มีความเสี่ยงน้อยกว่า
การผ่าตัดบายพาสต่อเส้นเลือดหัวใจ แต่ได้ผลเท่าเทียมกัน และป้องกันการตีบซ้ำของเส้นเลือดได้ดีกว่าการใช้บอลลูนเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นผู้ป่วยยังไม่มีแผลผ่าตัดและความเสี่ยงจากการรักษาก็น้อยมาก” นพ.ชาติกล่าว
นอกจากเครื่องมือตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจเหล่านี้แล้วยังมีเครื่องมือและเทคโนโลยีอีกหลากหลายที่พร้อมจะช่วยยืดชีวิต ผู้ป่วยโรคหัวใจให้ยืนนานยิ่งขึ้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าการตรวจวินิจฉัยและรักษาแบบใดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565