โรคลิ้นหัวใจ โรคอันตรายที่อาจแอบซ่อนอยู่ในทุกวัย
หัวใจคนเรามีทั้งหมดสี่ห้อง โดยมีลิ้นหัวใจทำหน้าที่เป็นเหมือนวาล์วกั้นเปิดปิดระหว่างหัวใจห้องบนกับห้องล่างเพื่อควบคุมการไหลของเลือดให้ไปในทิศทางเดียว ไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับมา ลิ้นหัวใจมี 4 ลิ้น ได้แก่ ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายกับห้องล่างซ้าย ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนขวากับห้องล่างขวา และลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างกับเส้นเลือดใหญ่ โรคลิ้นหัวใจเกิดขึ้นเมื่อลิ้นหัวใจลิ้นใดลิ้นหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งลิ้นทำงานผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายอย่างเพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
โรคลิ้นหัวใจมีกี่ประเภท
โรคลิ้นหัวใจมีหลายประเภท สามารถแบ่งออกตามอาการได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
- โรคลิ้นหัวใจตีบ คือ ภาวะลิ้นหัวใจตีบ ทำให้เลือดไหลผ่านลิ้นหัวใจได้ลำบาก
- โรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ ภาวะลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ทำให้เลือดไหลย้อนกลับมายังทิศทางเดิม
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจ
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจที่พบได้บ่อย เช่น
- ความเสื่อมของลิ้นหัวใจจากอายุที่มากขึ้น
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณทรวงอกโป่งพอง (thoracic aortic aneurysm)
- การติดเชื้อ เช่น โรคไข้รูมาติก เยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ
- ความผิดปกติแต่กำเนิด
อาการของโรคลิ้นหัวใจมีอะไรบ้าง
โรคลิ้นหัวใจมีอาการคล้ายกับโรคทางหัวใจระบบอื่น เช่น
- รู้สึกเหนื่อย อ่อนแรงแม้ทำกิจวัตรประจำวันปกติทั่วไป
- หายใจลำบากขณะทำกิจกรรมหรือนอนราบ
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- อาการบวมตามอวัยวะต่างๆ เช่น หน้าท้อง ขา ข้อเท้าและเท้า
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น เต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
- หากเกิดจากการติดเชื้อ อาจมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- หากอาการรุนแรง จะมีภาวะน้ำท่วมปอด หายใจลำบาก หมดสติได้
มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
การรักษาโรคลิ้นหัวใจทำได้หลายวิธี ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีเทคโนโลยีในการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นทางเลือกในการรักษาที่มีความปลอดภัยสูงและได้ผลลัพธ์ที่ดี การรักษาโรคลิ้นหัวใจทำได้ด้วยวิธีการดังนี้
- การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ
- การเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยการผ่าตัดเปิดหน้าอก (Traditional Open Surgery) เพื่อตัดลิ้นหัวใจเก่าออกและเย็บลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปแทนที่
- การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) โดยการสอดใส่สายสวนที่ส่วนปลายมีลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปทางเส้นเลือดเพื่อนำลิ้นหัวใจเทียมใส่เข้าไปทดแทนลิ้นหัวใจเดิม
- การหนีบลิ้นหัวใจโดยใช้คลิปผ่านทางสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TriClip) เป็นการใช้อุปกรณ์พิเศษ TripClip หนีบบริเวณช่องว่างระหว่างลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่รั่วให้มาชนกันเพื่อลดรูรั่ว
- การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral Valve Repair) เป็นการผ่าตัดซ่อมแซมส่วนที่ผิดปกติของลิ้นหัวใจ เช่น การผ่าตัดให้ลิ้นหัวใจที่ตีบกว้างขึ้นและการซ่อมแซมรอยรั่วของลิ้นหัวใจ
- การรักษาลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วโดยการซ่อมลิ้นผ่านสายสวน คือ กระบวนการทำหัตถการเพื่อรักษาภาวะลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วชนิดรุนแรงโดยการซ่อมลิ้นผ่านสายสวนด้วย MitraClip
การรักษาด้วย MitraClip นี้เป็นทางเลือกสําหรับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงจากการรั่วของลิ้นหัวใจไมทรัลชนิดรุนแรงที่ไม่สามารถทําผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้ หรือในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดอันตรายจากการผ่าตัด เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วมหลายโรค เป็นต้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้ลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการที่เกิดจากลิ้นหัวใจรั่วและทําให้ภาวะสุขภาพโดยรวมของผู้ที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น
จะป้องกันโรคลิ้นหัวใจได้อย่างไร
ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจป้องกันไม่ได้ เช่น วัยที่เพิ่มมากขึ้น แต่ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลิ้นหัวใจได้ ดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
- ควบคุมน้ำหนักตัว
- ไม่สูบบุหรี่
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งหากเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง
- รีบไปพบแพทย์เมื่อมีการติดเชื้อ
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้การรักษาอย่างครอบคลุมทุกมิติของโรคลิ้นหัวใจ เราทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อดุแลรักษาดูแลคนไข้โรคลิ้นหัวใจแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์โรคหัวใจ เภสัชกรเฉพาะทาง โภชนากร เวชศาสตร์ฟื้นฟูเฉพาะทาง รวมกระทั่งการให้ยาการดูแลรักษาก่อนผ่าตัด และหลังการผ่าตัด เพื่อให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตที่ดีกว่าเดิมและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม
โรคลิ้นหัวใจ Valvular heart disease - หาหมอ.com (haamor.com)
ลิ้นหัวใจตีบ | โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (bumrungrad.com)
Heart Valve Diseases: Causes, Symptoms and Treatment (clevelandclinic.org)
Heart Valve disease Symptoms, Risk Factors, Diagnosis and Treatment | Narayana Health
Heart Valve Diseases | Johns Hopkins Medicine
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: