ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เสีย ซึมเศร้า คิดมาก ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นเพราะอะไรหนอ คุณผู้หญิงหลายคนอาจเกิดความสงสัย เพราะดูเหมือนว่าจู่ ๆ อาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไปเมื่อคุณเข้าสู่วัย 45 ปี เกิดอะไรขึ้นกับคุณ และคุณจะรับมือได้อย่างไร Better Health ฉบับนี้มีคำตอบ
ก้าวผ่านอีกช่วงวัย
สำหรับผู้หญิงในวัย 45 ขึ้นไป อาการผิดปกติต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไปนั้น แท้จริงแล้วอาจอธิบายได้ว่า คุณอาจกำลังเข้าสู่ช่วง
วัยหมดประจำเดือนแล้วนั่นเอง
หากจะกล่าวว่าการเริ่มมีประจำเดือนเป็นการเริ่มต้นวัยเจริญพันธุ์ การหมดประจำเดือน ก็คือการสิ้นสุดลงของวัยเจริญพันธุ์อย่างถาวร ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รังไข่ชะลอการทำงานลงจนกระทั่งหยุดทำงานในที่สุด ส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ รวมทั้งวงจรการก่อตัว และการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงไทยจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 50 ปี แต่ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ35 ปี โดยจะลดระดับลงอย่างช้า ๆ จนกระทั่ง
เข้าสู่วัย 40 ที่ผลจากความผันผวนของฮอร์โมน
จะปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในรูปของอาการผิดปกตินานาชนิด ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง
ฮอร์โมนซึ่งจะนำไปสู่
การหมดประจำเดือน (Perimenopause) นี้อาจกิน
ระยะเวลาหลายปีกว่าที่จะหมดประจำเดือนอย่างแท้จริง ซึ่งพิจารณาได้จากการที่รอบเดือนไม่มาติดต่อกันนานเป็นเวลา 12 เดือนโดยไม่มี
สาเหตุอื่น ๆ ทางการแพทย์ อาทิ การผ่าตัดรังไข่ ใช้ยาฮอร์โมน หรืออยู่ในระหว่าง
การให้เคมีบำบัด เป็นต้น
อาการที่พึงสังเกต
ประสบการณ์ที่มีต่อภาวะหมดประจำเดือนนั้นแตกต่างกันในแต่ละราย บางรายประจำเดือนหยุดไปเฉย ๆ โดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่ส่วนใหญ่ การหมดประจำเดือนมักจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป อาการที่เด่นชัด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนซึ่งคาดเดาได้ยากขึ้น บางครั้งมามาก บางครั้งมาน้อย และระยะห่างระหว่างรอบไม่แน่นอน นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่
- ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ปวดเมื่อยตามข้อ
- มีปัญหาด้านการนอน เช่น นอนไม่หลับ ต้องตื่นกลางคัน
- หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ
- หัวใจเต้นแรง ไม่เป็นจังหวะ
- อ่อนเพลีย และรู้สึกเหนื่อยไม่ยอมหาย
- อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย
- วิตกกังวล และซึมเศร้า
- ผิวหนังบางลง คันตามร่างกาย
- ช่องคลอดแห้ง ความรู้สึกทางเพศลดลง
- เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
แม้ผู้หญิงส่วนมากจะต้องประสบกับอาการไม่พึงประสงค์ในช่วงใกล้หมดประจำเดือน แต่ขอให้เข้าใจว่า อาการเหล่านี้เป็นการปรับตัวของร่างกายต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติ และจะอาการดีขึ้นหรือ หายไปได้ในที่สุด
ภาวะแทรกซ้อน
ระดับฮอร์โมนที่ลดลงซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงหมดประจำเดือนนั้น นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆในระยะยาวด้วยเช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาเมื่อคุณเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ได้แก่
- กระดูกพรุนหรือกระดูกบาง การสูญเสียมวลกระดูกเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มวลกระดูกของผู้หญิงตามปกติจะมีระดับสูงสุดในช่วงอายุระหว่าง 25 ถึง 30 ปี จากนั้นจะลดลงโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.13 ต่อปี จนเข้าสู่
วัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะมีการสูญเสียมวลกระดูกมากถึงประมาณร้อยละ3 ต่อปี มวลกระดูกที่สูญเสียไปกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของโรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดกระดูกหักได้ง่าย
- คอเลสเตอรอลและโรคหัวใจ บทบาทของฮอร์โมนซึ่งมีต่อการรักษาระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม และคงความสมดุลระหว่างคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) กับชนิดไม่ดี (LDL) ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนนัก แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
รับมือกับความเปลี่ยนแปลง
แม้การหมดไปของประจำเดือนจะไม่ใช่ความเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้คือการปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม อย่าลืมว่าอาการผิดปกติต่าง ๆ นั้นสามารถบรรเทาลงได้โดยอาศัยคำแนะนำ และความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนที่ปลอดภัยเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ หรือยาลดไขมันในเลือดร่วมกับการเสริมแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และโรคกระดูกพรุนที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากการใช้ยาซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา การปรับเปลี่ยนนิสัยบางประการ และปรับวิถีชีวิตให้เป็นไปในแนวทางที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน หากคุณยังไม่ได้เริ่ม ก็ยังไม่สายหากจะเริ่มในวันนี้ วิธีการต่อไปนี้อาจช่วยคุณให้รู้สึกดีขึ้น
- รับประทานแคลเซียม และวิตามินดีจากอาหารอย่างเพียงพอ และเสริมเมื่อจำเป็น
- ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- หันมารับประทานอาหารไขมันต่ำและอาหารที่อุดมไปด้วยกากใย
- พยายามลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พยายามนอนให้มากขึ้น รวมทั้งเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา
- แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ช่วยระบายความร้อนได้ดี
- ผ่อนคลายความเครียด
ทั้งหมดนี้ไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการผิดปกติอันเนื่องมาจากความผันผวนของฮอร์โมน แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของคุณในระยะยาวอีกด้วย
เมื่อชีวิตเดินทางมาถึง
วัยหมดประจำเดือน ไม่ใช่ว่าคุณจะต้องเจอกับเรื่องไม่น่าอภิรมย์เสมอไปเสียเมื่อไร ยอมรับ เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านของวัย เป็นไปอย่างราบรื่น
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 25 สิงหาคม 2563