bih.button.backtotop.text

รู้จักกับแพทย์บำรุงราษฎร์

เพราะมุ่งมั่นที่จะมอบการดูแลที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อดำรงและสร้างสรรค์ความเป็นเลิศในการให้บริการด้านการแพทย์ Better Health ขอแนะนำให้รู้จักกับแพทย์ที่มากด้วยทักษะและประสบการณ์ ซึ่งมาเสริมทีมแพทย์ของเราให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมดูแลผู้ป่วยได้อย่างรอบด้านยิ่งขึ้น

รศ. นพ. ชาติชัย ศรีสมบัติ   สูตินรีแพทย์

นพ. ชาติชัยเป็นหนึ่งในแพทย์ยุคแรก ๆ ที่บุกเบิกการผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้องในประเทศไทยเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ทั้งยังรับหน้าที่เป็นอาจารย์แพทย์ถ่ายทอดเทคนิคและประสบการณ์เฉพาะด้านในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำมาอย่างยาวนาน และจัดเป็นผู้มีความชำนาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องมากที่สุดท่านหนึ่งของประเทศ
 
Q: ความยากของการผ่าตัดผ่านกล้องในช่วงที่ฝึกใหม่ ๆ เป็นอย่างไร

A: ความยากอยู่ที่มือกับตาสัมผัสต่างที่กัน มือทำที่หนึ่งขณะที่ตาต้องมองไปอีกที่ และการเคลื่อนไหวมือจะตรงข้ามกับภาพที่เห็น นอกจากนี้การมองผ่านกล้องจะทำให้เราได้ภาพสองมิติ เพราะฉะนั้นในช่วงแรก ๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องของการคะเนความลึกของเนื้อเยื่อ พอได้ฝึกหัดไปสักระยะหนึ่งก็คุ้นเคย

 
Q: มีกรณีใดที่ให้การรักษาแล้วรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ

A: ผมจำได้อยู่เคสหนึ่งมาพบผมด้วยปัญหาการมีบุตรยาก ผู้ป่วยได้ไปทำเด็กหลอดแก้วกับโรงพยาบาลขึ้นชื่อมาแล้วถึงสามแห่งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องเลิกหวังไป แต่อยู่มาวันหนึ่งผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมากในช่วงที่มีประจำเดือน ปวดท้องอุจจาระรุนแรงร่วมกับปัสสาวะเป็นเลือด เมื่อทำอัลตร้าซาวน์ก็พบก้อนที่กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และที่มดลูกซึ่งเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่

 
ผู้ป่วยรายนี้น่าจะเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออกพร้อมกันทั้งสามแห่ง เราใช้เวลาผ่าตัด 6 ชั่วโมง การรักษาได้ผลดี ประมาณครึ่งปีต่อมา ผู้ป่วยได้ตั้งครรภ์ลูกคนแรกแบบธรรมชาติ และมีบุตรคนที่สองตามมา ปัจจุบันก็ยังไปมาหาสู่กันอยู่เรื่อย ๆ

Q: คุณหมอมีปรัชญาการทำงานอย่างไร

A: อาจารย์ที่ผมเคารพมากสอนผมว่าให้ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ คือให้เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน พิสูจน์ได้ ซื่อสัตย์ต่อผู้ป่วย และทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยยึดคำสอนของพระราชบิดา คือ ปฏิบัติกับคนไข้เสมือนกับปฏิบัติต่อตัวเราเองและญาติพี่น้องเรา


พญ. ปนิดา พิบูลนุรักษ์   แพทย์ประสาทวิทยา


พญ. ปนิดา มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปีในการให้การดูแลผู้ป่วยด้านประสาทวิทยา และโรคพาร์กินสันซึ่งมีความเคลื่อนไหวผิดปกติด้วยเทคนิค Deep Brain Stimulation ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ พญ. ปนิดายังได้ไปสอนนักศึกษาแพทย์ที่ Weil Cornell Medicine College, New York เป็นเวลาถึง 4 ปี และได้กลับมาสานต่อภารกิจเดิมที่บำรุงราษฎร์
 
Q: เพราะเหตุใดจึงสนใจศึกษาด้านประสาทวิทยา

A: เพราะเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากเท่าไหร่ ก็เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ และยังมีวิธีการรักษาที่น่าสนใจด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่เราก็สามารถประคับประคองและช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้ และทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 
Q: เทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการทำงานอย่างไรบ้าง

A: เทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากระบบประสาท อย่างเช่น Deep Brain Stimulation (DBS), Botulinum Toxin หรือการรักษาด้วยยาล้วนได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แน่นอนว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์เหล่านี้ไม่เพียงช่วยแพทย์ให้มีอาวุธในการรับมือกับโรคเท่านั้น แต่ยังสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตผู้ป่วยเป็นอย่างมากค่ะ

 
Q: ปรัชญาในการทำงานของคุณหมอคืออะไร
 
A:ปรัชญาในการทำงานของหมอ คือ คนไข้ต้องมาก่อนเสมอ (Patient First) และในการรักษานั้นหมอจะไม่ใช่ผู้ตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวแต่หมอจะเป็นผู้ให้ข้อมูลและตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะในเรื่องของการรักษา ข้อดีและข้อเสีย หรือผลที่จะเกิดขึ้น หมอจะอธิบายให้คนไข้รับทราบทั้งหมด แล้วจึงช่วยคนไข้ตัดสินใจภายหลัง
 
 
นพ. วีระวร อริยขจร   ศัลยแพทย์หลอดเลือด
 
หลังจบการศึกษา นพ. วีระวร ได้ไปศึกษาต่อเฉพาะทางที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในด้านการผ่าตัดหลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ และได้ใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่วยเหลือผู้ป่วยมาแล้วหลายราย

 
Q: เพราะเหตุใดจึงสนใจศึกษาต่อด้านการผ่าตัดหลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ

A: ผมสนใจเรื่องนี้ ก็เพราะว่าโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่องท้อง อาทิ โรคที่เกิดกับตับ เช่น ตับวาย หรือมะเร็งตับ หรืออื่น ๆ บางชนิดไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา และโรคเหล่านี้ก็สร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยมาก การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย การรักษาด้วยการผ่าตัด ปลูกถ่ายตับสามารถเปลี่ยนและยืดชีวิตคนไข้ให้นานขึ้น โดยเฉลี่ยถ้าผู้ป่วยไม่ได้เป็นมะเร็งขั้นที่รุนแรงมาก หลังจากได้รับการรักษาแล้วจะมีอาการดีขึ้นมากถึงร้อยละ 90 จากเดิมที่อาการแย่มาก ๆ

Q: คุณหมอมีหลักคิดในการทำงานอย่างไร

A: เมื่อมีปัญหาก็จะต้องตั้งสติให้ดี ๆ จัดการกับปัญหาไปทีละเปลาะ ในการทำงาน การสื่อสารกับผู้ป่วยนั้นสำคัญมาก สิ่งที่เราอธิบายไป เราต้องให้แน่ใจว่าคนฟังเข้าใจ เรื่องนี้ครอบคลุมไปถึงการทำงานร่วมกับทีมงานด้วย การสื่อสารที่ชัดเจน ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ก็จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดตามมาภายหลัง 

Q: การทำงานกับบำรุงราษฎร์เป็นอย่างไรบ้าง

A: ถ้ามองในด้านศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชน ณ วันนี้โรงพยาบาลที่จะสามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้มีไม่กี่แห่ง ซึ่งรวมถึงบำรุงราษฎร์ด้วย อีกอย่างก็เป็นเรื่องของทีมงาน เพราะการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนั้นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายคน ซึ่งที่นี่ค่อนข้างจะมีความพร้อม ทั้งในเรื่องของศักยภาพและบุคลากร
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 18 มิถุนายน 2563

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs