bih.button.backtotop.text

รู้จักกับแพทย์บำรุงราษฎร์ - โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ และโรคระบบประสาท

นพ.สำเริง เนติ

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ

นพ.สำเริง จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสอบได้ที่ 1 ในการสอบเพื่อเป็นแพทย์ผ่าตัดกระดูกและข้อ รวมถึงยังเป็นแพทย์คนแรกๆ ของประเทศไทยที่ศึกษาต่อเฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อในสาขา Hand and Microsurgery

เหตุผลที่เลือกเรียนด้านศัลยกรรมมือ

มีคนบอกว่าสิ่งที่มนุษย์เหนือกว่าสัตว์อื่นมีอยู่สองอย่างเท่านั้น หนึ่งคือสมอง สองก็คือมือของเรา เพราะฉะนั้นมือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก แต่หลายคนมักมองข้ามจนกว่าจะเจอเหตุการณ์ที่ไม่สามารถใช้มือได้อย่างปกติ อีกเหตุผลหนึ่งคือในสมัยนั้นการผ่าตัดต่ออวัยวะเป็นเทคนิคที่มีความละเอียดซับซ้อนมาก เช่น การต่อนิ้วที่ขาดซึ่งต้องต่อเส้นเลือดที่เล็กมากๆ

และไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ จึงรู้สึกว่าท้าทายและเป็นประโยชน์จริงๆ เพราะปรากฏว่าแค่สองปีแรกที่เริ่มทำก็มีผู้ป่วยนิ้วขาดมาให้ต่อเกือบ 100 ราย

หลักคิดในการทำงาน

ตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด จริงใจ และตรงไปตรงมา แม้จะเป็นหมอผ่าตัดแต่ผมสอนลูกศิษย์เสมอว่าให้ใช้การผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้าย หมายถึงต้องไม่มีวิธีการรักษาแบบอื่นแล้ว ปรัชญาการทำงานของเราคือ ต้องรักษาให้หายโดยไม่ผ่าตัด แต่ถ้าจำเป็นต้องผ่าก็ต้องทำอย่างดีที่สุด คือต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยไว้วางใจ
 

ปัจจุบัน นอกจากจะเปิดอบรมให้ความรู้แก่แพทย์รุ่นใหม่ๆ ทุกสัปดาห์แล้ว นพ.สำเริงยังเคยดำรงตำแหน่งรองประธานชมรมศัลยแพทย์ทางมือแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการชมรมจุลศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นประธานชมรมแพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลังแห่งประเทศไทย และยังเคยดำรงตำแหน่งรองประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

นพ.พิษณุ เกิดสินธ์ชัย

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ

นพ.พิษณุ สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อนไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านสวนหัวใจและการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนที่ประเทศเบลเยียม คุณหมอร่วมงานกับบำรุงราษฎร์มานานถึง 20 ปี และนับเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจที่มีความชำนาญและมากประสบการณ์คนหนึ่ง

ความท้าทายของการเป็นแพทย์โรคหัวใจ

คือการต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ซึ่งถ้าช้ากล้ามเนื้อหัวใจก็จะตายไปเรื่อยๆ ดังนั้น นอกจากผู้ป่วยจะต้องมาถึงเร็วแล้ว ทีมแพทย์ก็ต้องเร็ว ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลก็ต้องพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งบำรุงราษฎร์สามารถขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนได้ภายใน 1 ชั่วโมงนับจากผู้ป่วยมาถึง เรียกว่าเป็นความเร็วที่เทียบได้ในระดับโลก

หลักการทำงาน

การรักษาจะประสบความสำเร็จได้ แพทย์กับผู้ป่วยต้องมีความเชื่อใจกัน ประวัติผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าพูดคุยกันได้หมดแพทย์ก็วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่วางใจ ไม่บอกในเรื่องที่ควรบอก แพทย์ก็ไม่ทราบและอาจวินิจฉัยผิดได้ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ผู้ป่วยไว้ใจในตัวเราให้ได้ก่อน อีกประการหนึ่งคือต้องคิดว่าผู้ป่วยคือญาติของเราแล้วดูแลรักษาเขาให้ดีที่สุด

นพ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท

หลังจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในสาขาประสาทศัลยแพทย์ (Neurosurgery) นพ.วีระพันธ์ได้ไปศึกษาต่อด้านการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปที่ประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีจนถึงปัจจุบัน และภายหลังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอปวดหลังนับพันรายต่อปี

ความสนใจด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

เกิดจากประสบการณ์ตรงที่เคยถูกผ่าตัดหลังเนื่องจากหมอนรองกระดูกปลิ้น ทำให้เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยดี ตอนนั้นแม้จะผ่าตัดแบบไมโครสโคปแล้วแต่ยังมีแผลขนาด 7.5 เซนติเมตร จนประมาณปี 2550 ได้มาเจอกับเทคนิคการผ่าหลังจากเยอรมนีที่แผลผ่าตัดเล็กแค่ 7 มิลลิเมตร ก็รู้สึกประทับใจ เลยหันความสนใจจากเรื่องสมองไปศึกษาเรื่องการผ่าตัดกระดูกสันหลังแผลเล็ก (minimally invasive spine surgery)
 

ในปัจจุบัน สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ให้บริการรักษาผู้ป่วย การอบรมแพทย์ และทำงานวิจัยไปพร้อมๆ กัน

การร่วมงานกับบำรุงราษฎร์

ผมชื่นชมบำรุงราษฎร์ที่ให้ความสำคัญกับการสอนและการวิจัย เราเปิดอบรมด้านการรักษาอาการปวดคอและปวดหลังให้กับแพทย์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่อเนื่องกันมา 8 ปีแล้ว โดยร่วมกับโรงพยาบาลจากเยอรมนีจัดที่เมืองไทย
 

ปีละ 1 ครั้งและที่เยอรมนีปีละ 2 ครั้ง มีแพทย์จากทั่วโลกมาเข้าอบรม สะดวกที่ไหนก็ไปที่นั่น เฉพาะแพทย์ไทยที่ผ่านการอบรมจากสถาบันของเรามีนับร้อยรายแล้ว ซึ่งโรงพยาบาลก็ให้การสนับสนุนด้วยดีมาโดยตลอด

พญ.ธัญลักษณ์ ชัยเสรี

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ

กว่า 30 ปีที่พญ.ธัญลักษณ์ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และศึกษาต่อเฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

เคสผู้ป่วยที่ท้าทาย

ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจผิดปกติแบบซับซ้อนโดยกำเนิด เมื่ออายุน้อยอาการต่างๆ ยังสามารถควบคุมได้ด้วยยา แต่เมื่ออายุมากขึ้น พยาธิสภาพของโรคหัวใจที่เป็นอยู่มีผลสะสมต่อเนื่องต่อการทำงานทั้งปอดและหัวใจ ประกอบกับมีโรคไทรอยด์เป็นพิษแทรกซ้อนขึ้นมาซึ่งมีผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบหัวใจ ทำให้เกิดการไหลย้อนของเลือดดำจากหัวใจห้องขวาผ่านรูรั่วในหัวใจไปผสมกับระบบเลือดแดงในหัวใจห้องซ้าย ออกซิเจนในระบบเลือดแดงตกลงกว่าระดับปกติมากทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเขียวและเหนื่อยมากจนทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ 

ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการดูแลแบบ intensive โดยเราระดมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาให้การรักษาแบบทุติยภูมิจนภาวะหัวใจล้มเหลวแบบรุนแรงดีขึ้นมากพอที่พร้อมจะรักษาโดยการผ่าตัดหัวใจซึ่งต้องอาศัยศัลยแพทย์หัวใจที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเท่านั้น ในที่สุดผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจและกลับมาใช้ชีวิตแบบมีคุณภาพได้อีกครั้ง สามารถทำงานและไปเที่ยวต่างประเทศได้ ซึ่งเกินความคาดหมายของตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวว่าจะหายจนมีชีวิตเป็นปกติได้อย่างในขณะนี้

การรักษาที่รู้สึกประทับใจ

หมอร่วมงานกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มามากกว่า 25 ปี รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจมานับไม่ถ้วน มีผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งซึ่งเป็นโรคติดเชื้อของลิ้นหัวใจอย่างรุนแรง ได้ย้ายจากโรงพยาบาลอื่นมารักษาเนื่องจากอาการแย่ลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยรายนี้
 

ในที่สุดได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมจนสุขภาพหัวใจและร่างกายกลับมาเป็นคนปกติ ตลอดการรักษาที่ผ่านมากว่า 20 ปีผู้ป่วยใช้ชีวิตแบบที่ต้องการได้โดยไม่ถูกจำกัดเลย ทุกครั้งที่ผู้ป่วยรายนี้เดินทางไปต่างประเทศก็มักซื้อของมาฝากหมอเป็นประจำจนต้องขอร้องให้หยุดซื้อของมาให้ ท้ายสุดผู้ป่วยได้ขอกอดหมอสักครั้งแทนคำขอบคุณ โดยบอกว่าไม่เคยลืมว่าหมอเป็นผู้ช่วยชีวิตและดูแลต่อเนื่องมาตลอดจนทุกวันนี้หมอประทับใจว่าเขาคงสัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริงในการเอาใจใส่ในการรักษาและความหวังดีที่หมอมีให้อย่างต่อเนื่องตลอดมา
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

รู้จักกับแพทย์บำรุงราษฎร์ - โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ และโรคระบบประสาท
คะแนนโหวต 10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs