bih.button.backtotop.text

รู้จักกับแพทย์บำรุงราษฎร์

ผศ.พญ.ธรรมบวร เนติ

วิสัญญีแพทย์

ผศ.พญ.ธรรมบวร สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนไปศึกษาต่อที่ University of California Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกาในสาขาการระงับความรู้สึกสำหรับการผ่าตัดหัวใจผู้ใหญ่และการผ่าตัดเด็กหัวใจพิการแต่กำเนิดแล้วจึงกลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราชราว 10 ปี ก่อนจะย้ายมาร่วมงานกับบำรุงราษฎร์ คุณหมอเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ผู้อยู่เบื้องหลังการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจให้กับเด็กๆ กว่า 700 คนภายใต้โครงการรักษ์ใจไทยมาโดยตลอด ปัจจุบันคุณหมอยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิสัญญีของบำรุงราษฎร์อีกด้วย

บทบาทและองค์ความรู้ที่จำเป็นของวิสัญญีแพทย์

บทบาทหลักคือทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ในการนำพาผู้ป่วยผ่านการผ่าตัดไปได้อย่างปลอดภัยและมีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด โดยต้องมีความรู้ทางอายุรกรรม มีความรู้ว่าการผ่าตัดจะมีผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างไร ต้องเลือกเทคนิควิธีระงับความรู้สึก ชนิดและปริมาณยาที่ใช้อย่างละเอียดต้องมีความรู้ในการเฝ้าระวังเพื่อประคับประคองให้ทุกๆ อวัยวะได้รับเลือดและออกซิเจนอย่างเพียงพอ มีความรู้ด้านเวชบำบัดวิกฤต มีทักษะขั้นสูงสุดของการช่วยฟื้นคืนชีพ รู้กายวิภาคทางหายใจ กระดูกสันหลัง และทางเดินของเส้นประสาทต่างๆ ที่จะทำการระงับความรู้สึก

การรักษาที่รู้สึกประทับใจ

เคยมีผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นนักศึกษาหญิงประสบอุบัติเหตุกระดูกสันหลังคอหัก แขนขาทั้ง 2 ข้างขยับไม่ได้เลยในทันที เพียงแต่หายใจได้และพูดได้ซึ่งการบาดเจ็บรุนแรงขนาดนี้ โอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาขยับแขนขาได้มีต่ำมาก และมักเสียชีวิตในเวลาต่อมา แม้จะลำบากใจแต่แพทย์จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่คุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อซึ่งเป็นผู้ขับรถในครั้งนั้นถึงกับร้องไห้ออกมาต่อชะตากรรมของลูกสาวการผ่าตัดซ่อมยึดกระดูกคออย่างเร็วที่สุดเป็นโอกาสเดียวแม้ความหวังจะริบหรี่ ในยามนั้นจำได้ว่าตัวเองคิดถึงลูกสาวที่มีอายุใกล้เคียงกับผู้ป่วยและเข้าใจถึงหัวอกของคุณพ่อคุณแม่ การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี อีก 1 ปีต่อมาผู้ป่วยกลับมาหาคุณหมอผ่าตัด เป็นหญิงสาวสวยแทบไม่เหลือความผิดปกติอยู่เลย มีเหตุการณ์มากมายในชีวิตการทำงานที่ทำให้คิดเสมอว่า การทุ่มเทในวิชาชีพของเราเป็นการได้สะสมบุญทุกๆ วัน ไม่ต้องไปทำบุญที่อื่น ทำในที่ทำงานของเรานี่แหละ

ปรัชญาในการทำงาน

ผู้ป่วยต้องมาก่อนเสมอค่ะ สิ่งนี้อยู่ในใจตลอดเวลา บำรุงราษฎร์มีโครงสร้างการบริหารที่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก ซึ่งตรงกับปรัชญาการทำงานของตัวเอง

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา – โรคพาร์กินสัน

หลังสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญและปริญญาบัตรผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาอายุรศาสตร์ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งกรุงลอนดอนและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ รวมถึงได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตวิทยาและประสาทวิทยาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน ศ.นพ.รุ่งโรจน์เป็นอาจารย์พิเศษทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, University of California, Los Angeles และ Juntendo University Hospital ประเทศญี่ปุ่น

เหตุใดจึงสนใจสาขา movement disorder

สมัยนั้นสาขานี้เป็นสาขาที่ค่อนข้างท้าทายเพราะยังใหม่มาก หลายคนยังคิดว่าพาร์กินสันเป็นโรคที่น่ากลัว ถ้าเป็นแล้วอีกไม่กี่ปีก็ต้องนอนติดเตียง ยารักษาก็มีไม่กี่ตัว แต่ผมกลับรู้สึกอยากเรียน เพราะว่าเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอย่างชัดเจนว่าถ้าคุณรักษาเขาได้ดี เขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ปัจจุบันวิธีการรักษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เมื่อก่อนหากผู้ป่วยตัวสั่นเพียงเล็กน้อย แพทย์มักจะบอกว่ายังไม่ต้องรักษา รอให้มีอาการเยอะๆ แล้วค่อยให้ยา แต่ในช่วง 10 ปีมานี้แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันมีประสิทธิภาพมากขึ้น มียาจำนวนมากขึ้น มีเทคนิคการผ่าตัดอย่างการผ่าตัดสมองส่วนลึกที่ก้าวหน้า แม้จะยังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้นานกว่า 20 ปี จากเมื่อก่อน 5 ปีก็ต้องนั่งรถเข็นแล้ว

หลักคิดในการทำงาน

ต้องมุ่งมั่นและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ แต่ก่อนที่จะมีความมุ่งมั่น คุณต้องมีความชอบในสิ่งนั้นอย่างจริงจังก่อน ถ้าคุณไม่ชอบคุณก็ไม่อยากทำ ไม่อยากจะจดจ่อกับสิ่งนั้นความคิดสร้างสร้างสรรค์ก็ไม่เกิด และทำให้ไม่มีผลงานในที่สุด ผมโชคดีที่ได้เจอในสิ่งที่ชอบแล้วพยายามหาโอกาสที่จะได้ทำสิ่งนั้น ที่สำคัญคือต้องขยัน ผมเชื่อว่าอาชีพแพทย์ต้องขยันต้องทำจนเชี่ยวชาญ อะไรที่ยังไม่รู้ก็ต้องถามผู้รู้

พญ.รสนีย์ วัลยะเสวี

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

พญ.รสนีย์จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ก่อนจะไปทำงานวิจัยและศึกษาต่อทางด้านโรคระบบต่อมไร้ท่อที่ Howard University Hospital และ Mayo Clinic รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา เมื่อจบงานวิจัยแล้วจึงสอบอเมริกันบอร์ดและกลับมาร่วมงานกับบำรุงราษฎร์ในปี 2546 หลังใช้เวลาในต่างประเทศนานถึง 14 ปี

การทำงานของแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อ

แพทย์ในปัจจุบันต้องหมั่นอัพเดทความรู้และตามโรคให้ทัน และเนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง การดูแลผู้ป่วยจึงต้องต่อเนื่อง และผู้ป่วยก็ต้องให้ความร่วมมือ การรักษาจึงจะได้ผลดีในการรักษาหมอจะซักประวัติ รูปแบบการใช้ชีวิต และประวัติการใช้ยาอย่างละเอียด จากนั้นจะอธิบายผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แผนการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงหรือข้อควรระวังของยาที่สั่งจ่าย และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยซักถาม บางท่านมาตอนที่ยังไม่มีโรคแทรกซ้อน หมอจะบอกเลยว่าหมอตั้งใจรักษานะ ขอให้คุณร่วมมือเพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ หรือต้องตัดขาซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าใจและให้ความร่วมมือ

การรักษาที่รู้สึกประทับใจ

ไม่ได้เป็นผู้ป่วยของแผนกต่อมไร้ท่อแต่เป็นเคสชาวต่างชาติ อายุประมาณ 18-19 ปี มาประสบอุบัติเหตุรถชนทางภาคใต้ โดยที่เขาเป็นโรคฮีโมฟิเลีย (โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก) อยู่ก่อนทำให้เลือดออกภายในช่องท้องเยอะมาก แต่เนื่องจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดไม่มีสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว เมื่อผ่าตัดเลือดก็ออกไม่หยุด จนผู้ป่วยช็อกและมีช่วงที่หัวใจหยุดเต้น ญาติทางอเมริกาจึงติดต่อผ่าน Mayo Clinic ซึ่งมีเครือข่ายของแพทย์ซึ่งเป็นศิษย์เก่าอยู่ทั่วโลก และหมอก็ได้รับการติดต่อให้ช่วยเวลานั้นเป็นช่วงค่ำๆ ของวันเสาร์ เราส่ง air ambulance ไปเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉิน ในเวลาเพียง 45 นาที มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง 9 ท่านเข้ามาดูแลผู้ป่วย ทั้งคุณหมอ ICU คุณหมอโรคหัวใจ คุณหมอทางโรคเลือดภาวะโรคฮีโมฟีเลียคุณหมอไต คุณหมอโรคติดเชื้อและศัลยแพทย์เจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยกันดูแลจนกระทั่งผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาได้อย่างปลอดภัย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบำรุงราษฎร์ที่สามารถช่วยผู้ป่วยในทุกๆ ด้าน

การร่วมงานกับบำรุงราษฎร์

บำรุงราษฎร์มีบุคลากรที่มีความสามารถและเครื่องมือที่ทันสมัย เราทำงานกันเป็นทีมทำให้การทำงานง่ายขึ้นและผลดีตกอยู่กับผู้ป่วย ทุกฝ่ายให้การสนับสนุน ปัญหาต่างๆ ได้รับการใส่ใจแก้ไขทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

ผศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ – ภาวะหัวใจล้มเหลวและปลูกถ่ายหัวใจ

หลังสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) และแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.พญ.ศริญญาได้เลือกศึกษาต่อเฉพาะทางในสาขาอายุรศาสตร์หัวใจ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สาขาคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจจาก Mayo Clinic และ Cleveland Clinicสหรัฐอเมริกา และสาขาภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ จาก University of Florida สหรัฐอเมริกา นับเป็นแพทย์เพียง 1 ใน 4 ของประเทศไทยที่ผ่านการฝึกอบรมทางคลินิกเฉพาะทางด้านนี้

แรงบันดาลใจและการทำงาน

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรียนต่อในสาขาภาวะหัวใจล้มเหลวและการปลูกถ่ายหัวใจเกิดขึ้นช่วงที่ยังเรียนอยู่ศิริราช มีนักศึกษาแพทย์ปี 4 เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดมีภาวะหัวใจอักเสบแล้วช็อกต้องเข้า CCU ในวันที่อยู่เวรพอดี อาการของน้องรุนแรงมากแต่ตอนนั้นเรายังไม่มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ หากไม่ได้เครื่องช่วยพยุงหัวใจ (VAD) ไว้ก็คงไม่รอด ทำให้คิดว่าบ้านเรายังขาดแคลนแพทย์สาขานี้อยู่มาก ส่วนสาขาอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจก็เช่นเดียวกันคือยังไม่มีแพทย์ทางด้านนี้มากนัก ที่ผ่านมาการปลูกถ่ายหัวใจมักเริ่มต้นและอยู่ภายใต้การดูแลของศัลยแพทย์ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาจะเป็นการดูแลร่วมกันระหว่างอายุรแพทย์โรคหัวใจกับศัลยแพทย์หัวใจ โดยอายุรแพทย์โรคหัวใจจะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายหรือเปลี่ยนหัวใจหรือไม่ก่อนจะส่งต่อให้ศัลยแพทย์หัวใจ ซึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างมาก

การดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

การดูแลผู้ป่วยต้องอาศัยการประเมินของแพทย์ที่แม่นยำและการติดตามที่ใกล้ชิด ปัจจุบันการรักษามีความก้าวหน้ามาก นอกจากยาแล้ว ยังมีการรักษาด้วยเครื่องช่วยการทำงานของหัวใจต่างๆ การผ่าตัดใส่เครื่องพยุงหัวใจและการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจและการปฎิบัติได้จริงเกี่ยวกับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยมีความสำคัญมากที่สุด เช่น การชั่งน้ำหนักทุกวันเพื่อติดตามสภาวะน้ำคั่ง การรับประทานอาหารที่โซเดียมต่ำ การออกกำลังกาย การทราบอาการที่ต้องระวัง ความสำคัญของยา และการมาพบแพทย์ตามนัด เป็นต้น

การร่วมงานกับบำรุงราษฎร์

บำรุงราษฎร์มีระบบการจัดการที่ดี มีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยและรองรับการทำงานของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ มีการดูแลผู้ป่วยเป็นทีมแบบสหสาขาวิชาชีพโดยที่ทุกฝ่ายสนับสนุนการทำงานของกันและกัน เรียกว่าสมบูรณ์แบบมากตัวเองรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานที่นี่ค่ะ
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

รู้จักกับแพทย์บำรุงราษฎร์
คะแนนโหวต 0 of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs